หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ตระเวน ไหว้ 3 สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

โบสถ์หลังเก่าของวัดม่วง วัดมอญในบ้านโป่ง

“เมืองคนงาม สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ย่านการค้าอุตสาหกรรม” เป็นคำขวัญของอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นอำเภอที่มีความเป็นมายาวนาน นักโบราณคดีเชื่อว่ามีความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยอำเภอบ้านโป่งถือเป็นอาณาเขตส่วนหนึ่งของอาณาจักรทวารวดีในราวพันกว่าปีก่อน เป็นชุมชนหัวเมืองที่มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่นๆ รวมไปถึงชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาด้วย

บ้านโป่งนั้นยังเป็นอำเภอที่รวมเอาความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรมเอาไว้ เนื่องจากที่นี่มีผู้คนสามเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน ได้แก่ ชาวไทย ชาวจีน และชาวมอญ โดยชาวจีนนั้นเดินทางเข้ามาตั้งรกรากที่บ้านโป่งในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และจากเรือสินค้าที่เข้ามาค้าขายในแม่น้ำแม่กลอง

ศาลเจ้าแม่เบิกไพรที่เคารพศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีน

ในราวปี พ.ศ.2317 นายเม่งตะ แซ่ตั้น พ่อค้าชาวจีนได้เดินทางโดยทางเรือเข้ามาค้าขายที่เมืองราชบุรี หรือที่เรียกว่าเมืองคูบัวในสมัยนั้น นายเม่งตะเป็นผู้ที่มีความเคารพศรัทธาต่อเจ้าแม่เทียงโหวเซี้ยบ้อ จึงได้นำผงธูปที่ไหว้เจ้าแม่ติดตัวมาด้วยจากประเทศจีนเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจระหว่างการเดินทาง และเมื่อเดินทางมาถึงที่บ้านโป่งก็ได้สร้างศาลเล็กๆ ขึ้นหลังหนึ่ง พร้อมทั้งได้นำผงธูปที่ติดตัวมานั้นประดิษฐานไว้ ต่อมาศาลแห่งนั้นก็ได้รับความเคารพจากชาวจีนในบ้านโป่งต่อมา และได้ขนานนามศาลเจ้าแห่งนั้นไว้ว่า “ศาลเจ้าแม่เบิกไพร” เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเรือ เชื่อว่าจะคุ้มครองให้ปลอดภัย และเบิกทางให้ไปถึงจุดหมายด้วยดี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้เคยเสด็จมาสักการะศาลเจ้าแม่เบิกไพรแห่งนี้ด้วยเช่นกัน โดยในปี พ.ศ.2420 นั้น พระองค์ได้เสด็จประพาสทางชลมารคผ่านแม่น้ำแม่กลองเมืองราชบุรีเพื่อเสด็จไปยังเมืองกาญจนบุรี ในตอนขากลับพระองค์ก็ได้ขึ้นไปสักการะที่ศาลเจ้านั้นด้วย นอกจากนั้นแล้ว ภายในศาลเจ้าแห่งนี้ก็ยังมีพระพุทธรูป 5 องค์ ปางต่างๆ กัน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงนำมาประดิษฐานไว้เมื่อคราวที่พระองค์เสด็จมาทอดกฐินที่อำเภอบ้านโป่งนี้ด้วย จึงถือว่าศาลเจ้าแม่เบิกไพรนี้มีความสำคัญและเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนโดยเสมอมา

คัมภีร์ภาษามอญภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง

ทางด้านของชาวมอญนั้น ก็ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยสองครั้งหลักๆ ด้วยกันคือสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งในการอพยพแต่ละครั้งนั้นก็มีชาวมอญเดินทางเข้ามาเป็นหมื่นคน และได้กระจัดกระจายไปอยู่อาศัยตามที่ต่างๆ โดยชาวมอญจำนวนหนึ่งก็ได้มาอาศัยอยู่ในอำเภอบ้านโป่งแห่งนี้

และชาวมอญเหล่านั้นก็ได้สร้างวัดมอญขึ้นหลายแห่งในอำเภอบ้านโป่งนี้ เช่น “วัดม่วง” วัดเก่าแก่ริมแม่น้ำแม่กลอง โดยมีประวัติของวัดเขียนไว้ในคัมภีร์ใบลานเป็นภาษามอญระบุว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา มีอายุไม่น้อยกว่า 300 ปี ภายในวัดมีอุโบสถหลังเก่าที่มีพระพุทธรูปศิลปะแบบมอญอันงดงาม อีกทั้งยังมีเจดีย์ 5 ยอด ศิลปะแบบมอญอายุประมาณ 355 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง มีเรื่องเล่าว่าเจดีย์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์ตรงที่สามารถขยับตัวเองหนีการกัดเซาะของแม่น้ำได้

และในบริเวณของวัดม่วงนั้น ก็ยังเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากวัดและชาวบ้านรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ มาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ เปิดให้เข้าชมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของชาวมอญในทางประวัติศาสตร์ มีจารึกภาษามอญในสมัยต่างๆ เช่นฝีมือช่างมอญในสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยอยุธยาตอนปลาย และเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมของชาวมอญ

เจดีย์ที่วัดม่วงที่เชื่อว่าขยับตัวหนีน้ำได้เอง

“วัดใหญ่นครชุมน์” ก็เป็นวัดมอญอีกแห่งหนึ่งที่สำคัญของอำเภอบ้านโป่ง ที่เชื่อว่าเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยทวารวดี อายุพันกว่าปี แต่แทบไม่เหลือซากปรักหักพังให้เห็นแล้ว ต่อมาเมื่อชาวมอญได้มาอาศัยอยู่ในแถบนี้จึงได้สร้างวัดขึ้นใหม่ในพื้นที่ของวัดร้างเดิม ภายในวัดมีวิหารหลวงพ่อพญาแล (วิหารปากี) และพระนอนเก่าแก่ ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแล้ว มีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องการขอโชคลาภ อีกทั้งยังมีต้นโพธิ์อยู่สามต้น และต้นจันทน์หนึ่งต้นซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมาปลูกไว้ จนตอนนี้ได้แผ่กิ่งก้านสาขาทำให้วัดสงบร่มรื่นขึ้นมาก

หลวงพ่อพญาแลและพระนอนในวัดนครชุมน์

ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น อำเภอบ้านโป่งจึงมีผู้คน 3 เชื้อชาติมาอยู่รวมกัน ว่ากันว่า ผู้หญิงที่มีเชื้อสายจีนและมอญผสมกันนั้นจะมีหน้าตาสะสวย จนเป็นที่มาของ “คนงามบ้านโป่ง” ซึ่งการผสมผสานนี้ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดสาวงามอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเกิดเป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานรวมกันอย่างกลมกลืนอีกด้วย

และเพื่อเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามาสัมผัสถึงวัฒนธรรมดีงามของคนไทย-จีน-มอญ ในบ้านโป่ง ทางอำเภอบ้านโป่งจึงได้จัดงาน “111 ปี เมืองบ้านโป่ง” ขึ้น ในวันที่ 29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคมนี้ โดยภายในงานจะแบ่งกิจกรรมเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ในส่วนแรกคือ ลาน 3 วัฒนธรรมเฟื่องฟู ที่จะนำเสนอ 3 อารยธรรมดีงามของชาวไทย ชาวจีน และชาวมอญที่สืบทอดกันมาถึง 111 ปี ผ่านการแสดงแสงสีเสียงชุด “เล่าขานตำนานบ้านโป่ง เชื่อมโยงสามวัฒนธรรมสองฝั่งลำแม่กลอง”

พระพุทธรูป 5 ปางในศาลเจ้าแม่เบิกไพร


กิจกรรมส่วนที่สองคือ ลานภูมิใจภักดิ์ รักในหลวง เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวบ้านโป่ง และเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดบ้านโป่งเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2479 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมผู้ประสบอัคคีภัยและทรงช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ชาวบ้านโป่งจึงไม่เคยลืมเลือนจนวันนี้ ในลานภูมิใจภักดิ์ฯ นี้จึงได้จัดให้มีการ “ร้อย (เรียง) รูป ร้อยดวงใจ บ้านโป่งเทิดไท้องค์ราชัน” และ “ลานใบโพธ์แห่งความภักดี” ที่ชาวบ้านโป่งพร้อมใจกันจัดขึ้น

ส่วนลานกิจกรรมสุดท้ายคือ ลานแสดงความเจริญด้านอุตสาหกรรม ดีทรอยต์ ออฟ ไทยแลนด์ ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเมืองแห่งนักประดิษฐ์อุปกรณ์ประดับยนต์ ความเป็นแหล่งอุตสาหกรรมต่อตัวถังรถบัสที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ซึ่งเป็นผลพวงที่ได้รับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานทัพที่อำเภอบ้านโป่ง และหลังจากที่ได้ถอนทัพกลับไป ก็ได้ทิ้งเครื่องมือเอาไว้เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้นำทักษะและฝีมือจากการสร้างทางรถไฟมาประยุกต์ใช้กับเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมในครัวเรือน ก่อนจะกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมอู่ต่อรถยนต์และอุปกรณ์ประดับยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ เป็นที่มาของชื่อ “ดีทรอยต์เมืองไทย” เปรียบเทียบกับรัฐดีทรอยต์ของสหรัฐอเมริกาที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์

* * * * * * * * * * * * * *

งาน “111 ปี บ้านโป่ง” จะจัดขึ้นในวันที่ 29 พ.ย.-5 ธ.ค. 2550 ณ บริเวณถนนแสงชูโต ตั้งแต่หอนาฬิกาไปจนถึงวงเวียนช้าง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-3221-1001, 0-3222-3537

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"


ไปข้างบน
แลกเปลี่ยนความรู้ - แสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่นี่
ความเห็นท้ายข่าว: 
โดยคุณ: 

เชื่อมต่อฐานข้อมูลไม่ได้