“วัดมกุฏคีรีวัน” สืบตำนาน “ภูส่องดาว” แต่ยุคขอม
บริเวณตรงนี้เป็นท้องกระทะ เป็นปล่องที่เหมาะแก่การส่องฟ้า ส่องจักรวาล
บริเวณนี้เป็นก้นกระทะที่มีภูเขาล้อมรอบ ทำให้ไม่มีแสงไฟรบกวน เป็นสถานที่ดูดาวที่ดี ทั้งนี้มีร่องรอยของเขมรโบราณ ที่มาอาศัยอยู่ในถ้ำสระน้ำใส เพื่อเตรียมปลูกสร้างสถานที่ดูดาว
แต่เกิดสงครามแก่งแย่งอำนาจขึ้นเสียก่อน
ครั้งสุดท้ายที่คุณเห็นดาวลูกไก่นั้นเมื่อไหร่กัน? เมื่อก่อนเพียงแค่แหงนหน้ามองฟ้าในยามค่ำคืนเราก็มีโอกาสได้เห็น “แสงดาว” หากแต่เดี๋ยวนี้เราต้องเดินทางไปตามอุทยานแห่งชาติที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่บ้าง ป่ายปีนไปยังเขาที่มีลานกว้างบ้าง เพื่อหลบหนีแสงไฟจากบ้านเรือน เพราะสถานที่เหมาะแก่การดูดาวนั้นต้องไม่ถูกรบกวนจาก “แสงสังเคราะห์” และไม่มีสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งกีดขวางใดๆ บดบังท้องฟ้า
“วัดมกุฏคีรีวัน” ที่ปลีกวิเวกอยู่ท่ามกลางเขาใหญ่ใน ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มีอยู่ไม่มากและอยู่ไม่ไกลเกินกว่าที่เหล่านักดูดาวจากเมืองหลวงจะดั้นด้นไปถึง ด้วยพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ เงียบสงบ แสงไฟเพียงไม่กี่ดวงจากกุฏิของภิกษุถูกบดบังด้วยไม้ใหญ่ที่ทางวัดปลูกขึ้น ทำให้ความสว่างไม่พึงประสงค์ไม่อาจเล็ดลอดไปรบกวนประกายระยิบบนท้องฟ้าที่เดินทางมาไกลหลายปีแสงจากห้วงอวกาศ
ฟากหนึ่งของศาลาการเปรียญใช้รองรับศาสนกิจ
ลานกว้างถัดจากศาลาการเปรียญและหอระฆังไม่ไกลนักเป็นสถานที่รองรับการเรียนรู้ดาราศาสตร์และการชมปรากฏการณ์บนฟากฟ้าหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักศึกษาในชมรมดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ซึ่งใช้บริเวณดังกล่าวจัดกิจกรรมดูดาวให้แก่เหล่าสมาชิก การสอบภาคปฏิบัติของนักเรียนในค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก กิจกรรมดูดาวของสมาชิกสมาคมดาราศาสตร์ไทย หรือนักดาราศาสตร์สมัครเล่นจาก "ดาราศาสตร์ด็อทคอม" รวมทั้งปรากฏการณ์ฝนดาวตก “ลีโอนิดส์” เมื่อปี 2544 ซึ่งเป็นที่ฮือฮานั้นก็มีญาติโยมนับพันมาใช้บริเวณวัดเพื่อชมปรากฏการณ์ดังกล่าว
สมาคมดาราศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่รวบรวมคนรักดาวเป็นกลุ่มใหญ่ก็รวบรวมสมาชิกเพื่อเดินทางไปทำกิจกรรม ณ วัดแห่งนี้อยู่หลายครั้ง
ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมฯ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักวัดมกุฏคีรีวันและใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมทางดาราศาสตร์อยู่เสมอว่า เมื่อครั้งที่ได้ไปให้ความรู้แก่เหล่าภิกษุปรากฏการณ์ สุริยุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2538 ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะแก่การดูดาว จึงเปรยกับพระผู้ใหญ่ว่าอยากจะขอใช้สถานที่สำหรับดูดาว แต่ได้รับคำแนะนำให้มาที่วัดแห่งนี้แทนเพราะเหมาะสมกว่า
ส่วนอีกฟากของศาลาการเปรียญเมื่อว่างเว้นจากกิจกรรมทางศาสนาก็เป็นที่รองรับกิจกรรมดาราศาสตร์
ขึ้นไปบนเนินเขาที่ห่างออกจากบริเวณลานธรรมและกุฏิประมาณกิโลเมตรกว่าๆ มหาเจดีย์มกุฏคีรีวันกำลังเป็นรูปเป็นร่างด้วยแรงงานของคนงานและศรัทธาประชาชน บนเนินเขาแห่งนี้เองเป็นอีกตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การดูดาวเพราะเห็นขอบฟ้าได้เกือบรอบด้าน ทางสมาคมฯ เคยไปสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตก
“ลีโอนิดส์” ที่บริเวณนี้เมื่อปีก่อน พร้อมบันทึกภาพ “เทห์ฟ้าห้วงลึก” หรือวัตถุที่อยู่ไกลในห้วงอวกาศด้วย
เมื่อครั้งที่ ดร.มิกาเอล จี กอฟริลอฟ ประธานการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ หรือไอเอโอ เดินทางมาดูความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างประเทศซึ่งไทยเสนอตัวสำหรับปี 2550 นั้น เขาก็ไปสังเกตการสอบภาคปฏิบัติของนักเรียนไทยในค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกเพื่อคัดตัวแทนประเทศ ณ วัดแห่งนี้เช่นกัน
ลานกว้างของวัดมกุฏคีรีวัน สถานที่รองรับกิจกรรมดาราศาสตร์ได้เป็นอย่างดี
ไม่เพียงแค่เป็นสถานที่ดูดาวซึ่งเพิ่งเป็นที่รู้จักในยุค “แสงไฟกลบแสงดาว” เท่านั้น หากแต่บริเวณที่ตั้งของวัดมกุฏคีรีวันยังมีความสำคัญต่อการศึกษาดาราศาสตร์มาตั้งแต่ยุคขอมโบราณ ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยของพระญาณดิลก วิปัญญา สัทธายุตโต หรือที่รู้จักกันในนาม “พระอาจารย์แดง” เจ้าอาวาสวัดแห่งนี้ ซึ่งกล่าวว่าได้ศึกษาตำราโบราณและพบว่าบริเวณดังกล่าวคือ “ภูส่องดาว” หรือ “พนมส่องดาว”
ซึ่งมีการเตรียมก่อสร้างสถานที่สำหรับดูดาวของชาวขอมในยุคเดียวกับการก่อสร้างปราสาทหินพนมรุ้ง แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองและสงครามขึ้นก่อนทำให้ไม่มีโบราณสถานในบริเวณดังกล่าว
“บริเวณตรงนี้เป็นท้องกระทะ เป็นปล่องที่เหมาะแก่การส่องฟ้า ส่องจักรวาล บริเวณนี้เป็นก้นกระทะที่มีภูเขาล้อมรอบทำให้ไม่มีแสงไฟรบกวน เป็นสถานที่ดูดาวที่ดี ทั้งนี้มีร่องรอยของเขมรโบราณที่มาอาศัยอยู่ในถ้ำสระน้ำใสเพื่อเตรียมปลูกสร้างสถานที่ดูดาว แต่เกิดสงครามแก่งแย่งอำนาจขึ้นเสียก่อน” พระอาจารย์แดงเล่าถึงประวัติศาสตร์ของบริเวณที่ก่อตั้งเป็นวัดซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ ของภูส่องดาว
สำหรับร่องรอยที่พบในถ้ำสระน้ำใสซึ่งอยู่ในตำบลเดียวกับวัดมกุฏคีรีวันมีร่องรอยของวัฒนธรรมชาวขอมอยู่ภายในถ้ำดังกล่าว เช่น ศิวลึงค์ เทวรูปไม้ เป็นต้น แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นได้ถูกขโมยไปหมดเหลือเพียงศิวลึงค์ที่ยังคงอยู่
ลานสำหรับชุมชนภายในวัดที่ไม่ต้องใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งมีหลักการเดียวกันกับการแสดงโอเปรา
พระอาจารย์แดงกล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนมาใช้พื้นที่ของวัดในการทำกิจกรรมทางดาราศาสตร์คือ ช่วงเกิดปรากฏการณ์ดาวหางไฮยากุตาเกะมาเยือนเมื่อปี 2539 และจากนั้นก็เริ่มมีคนเข้ามาใช้สถานที่ของวัดมากขึ้น
ไม่แน่ว่าอาจเป็นโชคดีของคนรักดาวที่ไม่มีการสร้างสถานที่ดูดาวของชาวขอมขึ้นมา เพราะบริเวณดังกล่าวอาจกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์หรือเป็นโบราณสถานที่ต้องได้รับการดูแลอย่างดีจนทำให้เราเข้าถึงบริเวณดังกล่าวได้ยากขึ้น อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าวิตกคือปัจจุบันแสงไฟจากรีสอร์ตรอบๆ เขาใหญ่นั้นเริ่มมากขึ้น และกำลังจะกลายเป็นมลพิษทางแสงสำหรับนักดูดาว
ทั้งนี้คงจะดีไม่น้อยหากเราควบคุมให้แสงไฟตกกระทบเฉพาะบริเวณที่เราต้องการ เพื่อเปิดโอกาสให้แสงดาวได้ตกกระทบยังพื้นดินบ้าง ไม่อย่างนั้น “เจ้าก้อนหินละเมอ” ในบทเพลงของวง Soul After Six ที่ชอบ “..มองจันทรา เมื่อเวลามันกลบแสงดาว...” คงต้องหันไปตัดพ้อหลอดไฟ แทน “จันทร์ฉาย” บนท้องฟ้าเป็นแน่
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|