พิจารณาความตาย
ถ้านักภาวนารู้เห็นความตายของตัวเอง น่าจะเอามรณานุสสติมาพิจารณาเป็นหลัก เพราะว่าเมื่อมันรู้เห็นความตายแล้วมันได้หลายกรรมฐาน มรณานุสสติกรรมฐาน อสุภกรรมฐาน ธาตุกรรมฐาน อัฐิกรรมฐาน แล้วลงผลสุดท้าย มันจะมองเห็นอนัตตา ความไม่มีตัวมีตน
พอจิตมารู้ว่า กายนี้ก็มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไหนเล่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มีที่ไหน ถ้าผ่านความรู้เห็นอย่างนี้ จะไม่มี ความสงสัยข้องใจในธรรมะคำสอนของพระพุทธองค์เลย
เวลาคนตาย คนธรรมดาสามัญตาย ไม่ได้ปฏิบัติสมาธิ เมื่อ วิญญาณจิตออกจากร่างไป จะมีร่างกายออกไปด้วย แต่ถ้าอยู่ใน สมาธิ จะมีแต่ดวงใสๆ สว่าง ลอยออกไป อันนี้ก็ไม่เคยมีใครพูด
นักเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี่ พอเขาพิจารณาพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอพิจารณาไปๆ จิตมันรวมแล้วหมุนติ้วๆๆๆ วูบลงไปนิ่งปั๊บ อันนั้นมันก็ยังไม่ใช่วิปัสสนา
วิปัสสนากรรมฐาน เกิดได้ ๒ ช่วง ช่วงหนึ่งพิจารณาแล้ว จิตมันหมุนลงไปจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ พอถอนออกมา พอสัมพันธ์กับร่างกาย รู้สึกว่ามีกายปั๊บ มันจะเกิดความคิดขึ้นมา ความคิดอันนั้นไม่ใช่ความคิดที่เรายึดเป็นหลักพิจารณาตั้งแต่เบื้องต้น
มันจะเป็นความคิดใหม่ ซึ่งมันอาจจะกระโดดไปโน่นกระโดดไปนี่ มันไม่เป็นระเบียบแบบแผน
แล้วมันเป็นวิปัสสนาได้อย่างไร ในเมื่อมันกระโดดไป มันเป็นวิปัสสนาได้ เพราะจิตมีสติตามรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น-ดับไป แล้วมันจะรู้สึกว่ามันมาจ่ออยู่ที่จุดที่เกิดอารมณ์เท่านั้น มันไม่วิ่งไปตามอารมณ์
เมื่อมันมาจ่ออยู่ที่เกิดอารมณ์นี่ มันก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ถ้ามันวิ่งไปวิจัยเรื่องอารมณ์ ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ในเมื่อจิตมองเห็นความตายชัดเจน ในขณะที่รู้เห็นอยู่ มันก็แค่เฉยอยู่ พอจิตถอนจากสมาธิ พอรู้สึกว่ามีกาย จะเกิดความรู้ขึ้นมา บางทีมีคำถาม "นี่หรือคือการตาย" "ใช่แล้ว" แล้วจิตจะอธิบายไปเองโดยไม่มีสัญญาเจตนา แต่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา
|