อย่าบังคับจิตให้หยุดนิ่ง
เมื่อก่อนหลวงพ่อก็บังคับจิตให้มันอยู่กับพุทโธเหมือนกัน สามารถให้มันอยู่ได้เป็นหลายๆ ชั่วโมง บางทีมันไปจนกระทั่งรู้สึก ว่าร่างกายตัวตนหายหมด แต่ภายหลังมันไม่เป็นอย่างนั้น พอพุทโธ พุทโธ ๒-๓ ครั้ง ความคิดมันฟุ้งๆๆ ภายหลังมานี่ เอ๊... ทำไมมันเป็นอย่างนี้ล่ะ
จะพยายามบังคับให้มันหยุดนิ่งเหมือนอย่างเก่ามันไม่ยอม หยุด หนักๆ เข้ามันปวดหัวมัวเกล้าขึ้นมา มันเกิดเครียด ในที่สุดก็เลยตัดสิน เอ้า! แกจะปรุงจะแต่งจะคิดไปถึงไหน เชิญเลย จะบ้าก็บ้าไป ดีก็ดีไป พอปล่อยไปๆ ยิ่งคิดไปก็ยิ่งเบาไปๆๆๆ ลงผลสุดท้าย กายค่อยจางหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียวนิ่งสว่างไสวอยู่ สภาวะที่เป็นความคิด ก็ปรากฏให้เรารู้เห็น เกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับ จึงมาได้ความ
หลวงพ่อก็ใช้เวลานานเหมือนกันนะ ตั้งแต่อายุ ๑๕ ปีย่าง จนกระทั่งผมเป็นสองสีถึงเข้าใจ ไม่ใช่ย่อยนะ หนังสือคัมภีร์ต่างๆ ที่เราเรียนมามันลืมหมด เพราะเราไปติดคำว่า “ต้องทำจิตให้หยุดนิ่ง เป็นสมาธิ สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน”
ถ้าเราปล่อยให้จิตอยู่ว่างๆ ถ้าหากว่ามันจะหดหู่หรือขี้เกียจ ก็เอาพุทโธมาท่องๆ กระตุ้นเตือนมัน พุทโธๆๆๆๆๆ ทีนี้มันทิ้ง พุทโธ ปั๊บ มันเกิดความคิดขึ้นได้ ปล่อยไป หลักฐานในคัมภีร์นี่ ในเมื่อเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว ไปค้นดู มีถมเถไป
สมาธิหรือฌาน มีอยู่ ๒ อย่าง
อารัมมณูปนิชฌาน จิตสงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ไปจนกระทั่งร่างกายตัวตนหาย แต่ไม่มีความรู้สึก อันนี้เรียกว่า สมาธิในฌานสมาบัติ
สมาธิอีกอันหนึ่ง พอจิตสงบพั้บลงไป ไปว่างอยู่นิดหนึ่ง บางครั้งมีความคิดโผล่ขึ้นมาๆ อันนี้เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน (สมาธิใน อริยมรรค)
หลวงปู่เทสก์ท่านว่า สมาธิในฌานมันโง่ สมาธิในอริยมรรค มันฉลาด จิตสงบแล้วมันเกิดความรู้ความคิดขึ้นมา ท่านว่าสมาธิใน อริยมรรค แต่แท้ที่จริง มันก็คือสมาธิมีวิตก วิจาร
วิตก ก็คือความคิด วิจาร ก็คือสติที่รู้พร้อม เมื่อจิตสามารถดำรงตัวอยู่ในสภาพปกติ วิตกคิดไป สติรู้ไปๆ ความดูดดื่มมันก็เกิดขึ้น เกิดปีติ เกิดความสุข แล้วก็เกิดความเป็นหนึ่ง สมาธิแบบนี้ จิตเป็นหนึ่งนั่นแหละ รู้อยู่ที่จิตนั่นแหละ ความคิดมันจะผุดขึ้นๆๆ อย่าง กับน้ำพุ
|