สมถะ-วิปัสสนา เป็นชื่อแห่งวิธีการเท่านั้น
ในเมื่อจิตมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ก็เป็นปฐมฌาน ปฐมฌานนี่การเดินจิตในสมาธิขั้นวิปัสสนา ซึ่งมันเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ นักปฏิบัติปัจจุบันนี้เข้าใจว่าสมถะกับวิปัสสนาเป็นคนละอย่าง
การเข้าฌาน ถ้าเป็นปฐมฌาน จิตก็เดินวิปัสสนาได้ ถ้าทุติยฌาน วิตก วิจาร หายไป เดินวิปัสสนาไม่ได้ กลายเป็นฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติเริ่มตั้งแต่ทุติยฌานเป็นต้นไป แต่ลักขณูปนิชฌาน (ฌาน ในอริยมรรค) หมายถึง ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ ในเมื่อเข้าสมาธิลึกลงไปแล้ว
ถอนจิตออกมาเจริญวิปัสสนา เป็นไปไม่ได้ นอกจากจิตจะถอนเอง
ที่ว่าถอนจิตออกมาเจริญวิปัสสนานี่ เป็นโวหารเท่านั้น แต่แท้ที่จริง จิตเข้าไปอยู่ในฌานสมาบัติแล้วถอนออกมาเอง พอถอนออกมาแล้ว มาถึงระยะที่รู้สึกว่า มีร่างกายตัวตน มาสัมพันธ์กับประสาททางสมอง จิตจะเกิดความคิดขึ้นมาเอง
ในช่วงนี้ พอจิตเกิดความคิดขึ้นมา เราปล่อยให้มันคิดไป เอาสติตัวเดียวตามรู้ๆๆๆ ก็เป็นการเจริญวิปัสสนา
ที่เข้าใจกันโดยทั่วๆ ไป เราเดินวิปัสสนา หมายถึง พิจารณา พระไตรลักษณ์ ยกเอา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็น อารมณ์ ทีนี้เมื่อเราพิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่เป็นภาคปฏิบัติ แต่เมื่อพิจารณา ไปแล้ว จิตสงบลงไป
บางทีมันไปนิ่งอยู่เฉยๆ ผู้ปฏิบัติก็ว่าตัวได้ฌาน การเจริญวิปัสสนามาแล้ว แต่มันไม่ใช่ การพิจารณาเป็นอุบายทำจิตให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ บริกรรมภาวนาก็เป็นอุบายทำให้จิตสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ พอจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ มันจะเกิดวิปัสสนา มันจะเป็นเองโดยอัตโนมัติ
อย่างบางทีเราพิจารณาภูมิวิปัสสนาอยู่แทบเป็นแทบตาย พอจิตสงบแล้วมันไปนิ่งอยู่เฉยๆ เป็นสมถะ บางทีนึกว่าจะภาวนา พุทโธๆๆๆ พอมันสงบสบายๆ พอมันสงบแล้ว มันไม่หยุดแค่สบาย มันกระโดดไปเล่นวิปัสสนา
เพราะฉะนั้น สมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี จึงเป็นชื่อแห่งวิธีการ เท่านั้น การบริกรรมภาวนาก็ดี การพิจารณาก็ดี เพื่อให้จิตตั้งมั่น เป็นสมาธิ การปฏิบัติตามแบบวิปัสสนานี่ เราพิจารณามันเป็นแนวทาง
พอจิตสงบเป็นสมาธิแล้วมันจะเกิดวิปัสสนาขึ้นมาเอง ไม่ต้อง ไปน้อมนึกให้มันเป็น มันเกิดเอง บางทีพิจารณาเรื่องวิปัสสนา พอ สงบ มันก็สงบๆๆๆ ไป จนกระทั่งรู้สึกว่าร่างกายตัวตนหาย เหลือแต่ จิตสว่างอยู่ดวงเดียว ทีนี้เมื่อถอนจากสมาธิขั้นนี้มา พอรู้สึกว่ามีกาย ปั๊บ มันเกิดความคิดขึ้นมา นี่มันเริ่มวิปัสสนาแล้ว
ในเมื่อจิตเป็นสมาธิตามธรรมชาติของสมาธิ สารพัดที่จิตจะปรุงแต่งขึ้นมา มันไม่อยู่ในขอบเขตที่เรากำหนดไว้ เช่นอย่างผู้ที่เคย เรียนวิชาทางโลกมาศาสตร์ไหน มีธุรกิจเกี่ยวข้องอยู่ในเรื่องอะไร เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิตามธรรมชาติแล้ว มันก็ไปหาวิชาความรู้และธุรกิจที่เคยคล่องตัวอยู่
ในลักษณะอย่างนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายท่านว่า จิตมันฟุ้งซ่าน แต่ความจริงไม่ใช่จิตฟุ้งซ่าน อะไรที่มันคล่องตัวอยู่ มันข้องอยู่ มันติดอยู่ มันจะไปวิจัยเรื่องนั้น
อย่างบางทีเราพิจารณาสมถะ พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เราตั้งใจ พิจารณา แต่เมื่อจิตสงบพั้บลงไป มันไม่อยู่กับอารมณ์ที่พิจารณา มันจะวิ่งไปหาวิชาที่เราเรียนมา
ผู้ที่เรียนมาทางวิทยาศาสตร์ ครุศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ มันก็วิ่งไปหาวิชาที่เรียนมา แล้ว มันจะไปวิจัย
แล้วในความเป็นไปของจิตในขณะที่อยู่ในสมาธิตามธรรมชาตินี่ มันกระโดดไปกระโดดมา กระโดดไป กระโดดมา เมื่อเป็นเช่นนั้น มันเป็นวิปัสสนา เป็นปัญญาได้อย่างไร มันเป็นได้ตรงที่สติ ไล่ตามทัน
สติที่รู้ทันเหตุการณ์ในจิตนี่ เรียกว่า สมาธิปัญญา หรือ วิปัสสนา แล้วเวลามันไป มันไม่ได้ไปเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนพระเทศน์ให้โยมฟัง ประเดี๋ยวมันวิ่งไปโน่น ประเดี๋ยวมันวิ่งไปนี่ บางที มันออกไปนอก บางทีมันวิ่งเข้าใน แต่ผลงานของมัน ก็คือสติตัวที่ รู้ทันเหตุการณ์นั้นๆ มันจะไปไหน สติก็จ่อๆๆๆ ตามรู้
|