หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช
การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา
เชิญชม การ์ตูนแอนนิเมชั่น  เสี้ยวลิ้มยี่  (The Legend of Shaolin Kung Fu)
เชิญชม VDO น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
เชิญชม ประวัติศาสตร์การเมือง ตอน ปิดตำนานทักษิณ
เจ้าแม่กวนอิม
ชมตัวอย่างภาพยนตร์,หนัง
ฐานิยปูชา ๒๕๕๑

ทำบุญสืบชะตา...หวังอะไร?

ต้องถือว่าการทำบุญนั้นไม่ว่าใครทำย่อมเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น เพราะการทำบุญเป็นบุญกริยาวัตถุอย่างหนึ่งที่มีอานิสงส์แท้ เช่นเดียวกับการทำบาปก็ย่อมมีวิบากแห่งกรรมนั้นเที่ยงแท้แน่นอน

การทำบุญสืบชะตาเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งของชาวพุทธเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธในภาคไหนๆ ก็ตาม และแม้จะเรียกชื่อพิธีกรรมต่างกันไปบ้าง แต่เนื้อหาสาระก็เหมือนกัน

บทพระคาถาที่พระสงฆ์สวดหรือทำพิธีนั้นก็เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ เป็นแต่ว่าคนไทยส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจอย่างถูกต้องและเพียงพอว่าการทำบุญสืบชะตานั้นทำกันเพื่ออะไร และจะหวังผลจริงได้แค่ไหน หรือด้วยวิธีการอย่างใด

จึงทำให้การทำบุญสืบชะตาบ้างก็ได้ผล บ้างก็ไม่ได้ผล และบ้างทำไปแล้วก็เหมือนกับขว้างเม็ดทรายลงในพระมหาสมุทร หายเงียบจ๋อมไปเลยเหมือนหนึ่งว่าไม่มีสิ่งใดๆ เกิดขึ้นฉะนั้น

ดังนั้นจึงควรจะได้ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้องถ่องแท้เพื่อจะได้ไม่หลงทางไปยึดถือในสิ่งที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง และเพื่อจะได้รับอานิสงส์ที่แท้จริงของการทำบุญประเภทนี้อีกอย่างหนึ่ง

การทำบุญสืบชะตานั้น บางท้องที่ก็เรียกว่าการจำเริญอายุ บางท้องที่ก็เรียกว่าทำบุญเสริมบารมี บางท้องที่ก็เรียกว่าทำบุญเสริมดวง แม้กระทั่งเรียกว่าเป็นพิธีการทำสังฆทานก็ยังมี หรือบ้างก็เรียกว่าพิธีบังสุกุลเป็นก็ยังมี

เรียกกันไปหลายแบบหลายอย่าง ทั้งๆ ที่เนื้อหาที่แท้จริงนั้นล้วนหวังเอาความมีอายุยืน หวังให้พ้นจากทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวง หวังได้ซึ่งลาภยศสุขสรรเสริญอันเป็นโลกธรรมที่ผู้คนปรารถนาด้วยกันทั้งนั้น

เอาเป็นว่าจะเรียกชื่อพิธีกรรมว่าอย่างไรก็ตามใจเถิด แต่ความประสงค์ของการทำพิธีก็อยู่ในขอบเขตที่ว่ามานี้ และพิธีดังกล่าวนั้นจะประกอบด้วยสองส่วน คือการทำบุญอย่างหนึ่ง และการที่พระสงฆ์สวดพระปริตรอีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองส่วนนี้เรียกว่าเป็นรูปแบบหรือเป็นรูปฟอร์มพิธีของงานทำบุญทั่วไปของชาวพุทธ เพราะไม่ว่างานไหนๆ ในทางมงคลก็จะมีรูปแบบหรือรูปฟอร์มอย่างนี้ทั้งนั้น

แต่ที่จะเป็นพิเศษเฉพาะเรื่องก็คือการบังสุกุลที่มีคำสวดว่า “อนิจจา วะตะสัง ขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโข” ซึ่งแปลโดยความหมายว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับเป็นสุข

ความจริงคาถาบทนี้เป็นบทที่พระสวดบังสุกุลให้กับคนที่ตายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพิธีชักผ้าบังสุกุลในงานศพหรือหน้าศพ หรือในการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุพการีแล้วมีพิธีกรรมบังสุกุล

เป็นกุศโลบายในการเอาความตายมาเป็นเหตุแห่งการสอนพระธรรมให้กับคนทั้งหลาย คือตั้งแต่พระที่สวดบังสุกุล ตลอดจนผู้ที่ได้ยินคำสวดบังสุกุลนั้น

ความหมายของบทสวดบังสุกุลนี้หากฟังแต่เผินๆ ก็อาจเข้าใจเป็นทำนองว่าอย่าไปโศกเศร้าเสียใจในความตายที่เกิดขึ้น เพราะสังขารที่ระงับไปแล้วนั้นเป็นความสุข

ซึ่งไม่ถูกเสียทั้งหมด แต่ก็ไม่ผิดเสียทีเดียว การสวดอย่างนี้คนตายไม่ได้ยิน และไม่รับรู้อะไรด้วยทั้งนั้น ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับคนที่ตายแล้ว เพราะไม่มีอะไรที่จะตกทอดหรือถึงมือหรือรับเอาไปได้เลย

แต่สำหรับพระที่สวด หากจิตสงบประกอบด้วยปัญญาแล้วก็ย่อมปลงสังเวชได้เป็นเบื้องต้นว่าสังขารทั้งหลายที่เกิดมาแล้วย่อมตั้งอยู่ เสื่อมไป แล้วดับไปเป็นธรรมดาด้วยกันทั้งนั้น วันหนึ่งตัวเราก็ต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้เลย

ก็จะเป็นทางให้ปล่อยปละละวางคลายความยึดมั่นถือมั่น และถ้าหากภูมิธรรมถึงขนาดก็อาจบรรลุธรรมเห็นพระไตรลักษณ์ได้ว่าสังขารทั้งหลายนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนอันจะควรยึดมั่นถือมั่นแต่ประการใดเลย

เมื่อเห็นอย่างนี้ก็ย่อมได้ชื่อว่าเห็นธรรม เพราะการเห็นธรรมในพระพุทธศาสนานั้นก็คือการเห็นพระไตรลักษณ์นี่แหละ แต่ไม่ใช่เห็นด้วยตาหรือด้วยความรู้สึกนึกคิด เพราะต้องเป็นการเห็นด้วยปัญญาที่เรียกว่าสัมมาปัญญาเท่านั้น

ส่วนผู้ที่ได้ฟังพระสวดก็ย่อมได้รับอานิสงส์เช่นเดียวกับพระที่สวดนั้น เพราะเป็นทางแห่งการตั้งความสังเวช เป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาท เป็นทางแห่งการลดละเลิกความเห็นแก่ตัวทั้งหลาย แล้วเพ่งเพียรในการทำคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม

แต่นั่นเป็นการเห็นอย่างผิวๆ เผินๆ เห็นอย่างหยาบๆ จากการเห็นสังขารคือร่างกายอันยาววาหนาคืบที่ทอดนอนตายอยู่เหมือนกับท่อนไม้ และเป็นปฏิกูล เป็นที่น่ารังเกียจ

คนตายไม่ได้มีความสุขอะไรทั้งนั้น แต่บทที่ว่าเตสัง วูปะสะโม สุโข หรือสังขารที่สงบแล้วเป็นสุขนั้น สุขในที่นี้หมายเอาแต่เพียงความไม่ทุกข์ แต่ไม่ใช่ไม่ทุกข์เพราะสิ้นทุกข์หรือระงับดับทุกข์ได้ หากเป็นความไม่ทุกข์เพราะไม่รับรู้เรื่องความทุกข์อีกแล้ว เหมือนกับท่อนไม้หรือก้อนดินที่ไม่รับรู้เรื่องทุกข์นั่นเอง

บทสวดนี้ยังมีความละเอียดประณีตลึกซึ้งกว่านี้ แม้แค่ที่หยาบและผิวเผินอยู่ก็เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์มากแล้วก็ตาม แต่เนื้อความอันละเอียดประณีตลึกซึ้งซึ่งดำรงอยู่นั้นจักเป็นประโยชน์กว่า และทำให้เกิดความสุขมากกว่า เป็นสุขชนิดที่อาจดับทุกข์สิ้นเชิงหรือนิพพานได้ด้วยซ้ำไป

ชาวพุทธบ้านเรามักจะเข้าใจเอาว่าสังขารนั้นหมายถึงร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้น คำว่า “สังขาร” ยังมีความหมายกว้างออกไปลึกซึ้งประณีตยิ่งกว่านั้นอีก

สังขารมีความหมายถึงการปรุงแต่ง หรือถ้าพูดแบบนักเคมีก็พูดได้ว่าปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากสิ่งสองสิ่งหรือกว่านั้นสัมผัสกัน ทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นอีก

อะไรที่มีการปรุงแต่งนั่นเป็นสังขารทั้งนั้น ในขันธ์ห้าที่กล่าวถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนั้น สังขารก็คือการปรุงแต่ง

ในสติปัฏฐานก็ถือว่าลมหายใจที่ส่งผลต่อความเป็นไปแห่งร่างกายนี้ก็คือสังขารชนิดหนึ่ง คือกายสังขาร หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการปรุงแต่งร่างกายให้เป็นไปตามอิทธิพลของความสั้น ยาว ความหยาบ ละเอียดของลมหายใจ

ในอานาปานสติในขั้นตอนเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ก็ถือว่าปีติและสุขเป็นสังขารอย่างหนึ่ง เพราะเป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้กระเพื่อม มีเวทนาเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนก็ตาม

ในปฏิจสมุทบาทซึ่งเป็นหลักใจความของพระพุทธศาสนาก็ตั้งหลักใหญ่ใจความอยู่ที่การปรุงแต่ง โดยความไม่มีวิชชาจะทำให้เกิดการปรุงแต่งทั้งปวง เมื่อใดที่มีวิชชาในพระพุทธศาสนาแล้ว เมื่อนั้นก็จะไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารหรือการปรุงแต่งอีกต่อไป เป็นการตัดสังสารวัฏคือดับทุกข์สิ้นเชิงได้

สังขารหรือการปรุงแต่งนี่แหละที่ทำให้เกิดนามรูปและสิ่งต่างๆ ขึ้น ตลอดจนความยึดมั่นถือมั่นอันเป็นทุกข์ ดังนั้นการปรุงแต่งจึงเป็นปัจจัยต้นๆ เป็นห่วงโซ่สำคัญที่ทำให้เกิดการยึดมั่นถือมั่นแล้วเป็นความทุกข์



เพราะเหตุนี้พระท่านจึงสวดว่าเตสัง วูปะสะโม สุโข หรือความสงบแห่งสังขารเป็นความสุข

และหากจะว่าให้เต็มยศเต็มอย่างก็อาจกล่าวได้ว่าความสงบระงับความปรุงแต่งทั้งหลายเป็นบรมสุข เป็นบรมสุขในความหมายที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า นิพพานัง ปะระมัง สุญญัง ซึ่งแปลว่านิพพานคือความสุขอย่างยิ่ง

ทั้งๆ ที่ความสุขอย่างยิ่งนั้นไม่มี มีแต่ในเชิงเปรียบเทียบถึงความดับทุกข์สิ้นเชิง เพื่อให้เห็นด้านที่ตรงกันข้ามกับภาวะที่ดับทุกข์สิ้นเชิงแล้วว่าเป็นอย่างไรเท่านั้น

ดังนั้นความสงบแห่งสังขารหรือความหยุดระงับแห่งการปรุงแต่งจึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความสุขหรือทำให้เกิดความสร่างคลายจากความทุกข์ แม้ถึงความดับทุกข์สนิทสิ้นเชิง

เหตุนี้ใครก็ตามที่ทำพิธีทำบุญสืบชะตาก็ควรจะได้เข้าใจความหมายแห่งพิธีกรรมนี้ก็จะสามารถรับเอาอานิสงส์ และผลของบุญได้อย่างเต็มเปี่ยม ดุจดังพระมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยน้ำฉะนั้น

เข้าพิธีทำบุญสืบชะตาแล้วก็พึงไตร่ตรองพิจารณาโดยแยบคายต่อไปว่า ความหยุดระงับของการปรุงแต่งเป็นความสุขได้อย่างไร หรือพูดง่ายๆ ว่าจะดับต้นเหตุไม่ให้เกิดการปรุงแต่งได้อย่างไร

เพราะผลทั้งหลายนั้นเกิดจากเหตุ เมื่อจะดับผลก็ต้องดับเหตุเสียก่อน และเหตุของการปรุงแต่งอันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ก็คือความไม่รู้หรือความไม่มีวิชชา เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น

ยึดมั่นถือมั่นเอาว่าสิ่งนี้สิ่งนั้นเป็นของกู เป็นตัวกู ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วเป็นสิ่งสมมติทั้งสิ้น เมื่อยึดมั่นถือมั่นเช่นนี้แล้วก็ทะนุถนอมปกปักรักษาหรือแสวงหามาเพิ่มขึ้น เป็นความรุ่มร้อนดิ้นรนกระวนกระวาย แม้นไม่ได้มาก็เป็นทุกข์ แม้ได้มาแล้วเสื่อมสลายสูญหายเสียหายไปก็เป็นทุกข์

ใครมาขัดขวางหรือทำให้ความยึดมั่นถือมั่นนั้นถูกกระทบกระเทือนก็ไม่พอใจ กลายเป็นความโกรธ ความผูกเวร ทำให้เมตตาแห้งแล้งไปจากใจ เมื่อผูกเวรก็ย่อมจองเวรกันร่ำไป และหมุนเวียนเป็นเกลียวไปแน่นเข้าๆ ก็ขาดผึงลงสักวันหนึ่ง

เมื่อจะระงับความปรุงแต่งหรือระงับสังขารก็ต้องบำเพ็ญเพียรให้มีวิชชาเกิดขึ้น วิชชาจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีปัญญา เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าสิ่งที่ปรุงแต่งทั้งหลายนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน

ขอเพียงแต่บำเพ็ญเพียรหรือเอาแค่พินิจพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย ก็พอจะเห็นได้ลางๆ เหมือนกันว่าไม่มีอะไรเลยที่คงอยู่เที่ยงแท้ถาวร มีแต่ความไม่เที่ยงทั้งนั้น มีแต่ความเสื่อมสลายไปทั้งนั้น แล้วก็แตกดับไปในที่สุด แม้ตัวเองก็อยู่ในสภาพเช่นเดียวกัน ไม่พ้นภาวะเช่นนี้ไปได้เลย

แค่เห็นว่าสรรพสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าเห็นลางๆ เห็นชัดๆ หรือเห็นกระจ่างก็ตาม ย่อมบังเกิดประโยชน์ใหญ่หลวงทั้งนั้น คือบังเกิดทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน และจะรู้สึกว่าตัวเองเบาหวิว ออกจากเครื่องพันธนาการทั้งหลายในโลก

พิธีสืบชะตาในลักษณะนี้จึงไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตยืนยาวเท่านั้น หากยังทำให้เกิดความเป็นอมตะ คือถึงซึ่งความไม่ตายอีกด้วย เพราะเมื่อดับทุกข์สิ้นเชิงแล้ว ความปรุงแต่งไม่มีแล้ว ความเกิดก็ไม่มี แล้วความตายจะมีที่ไหน มัจจุราชจะทำอะไรได้ ดังนี้.



ขอขอบพระคุณ คุณสิริอัญญา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"




ไปข้างบน