หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช
การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา
เชิญชม การ์ตูนแอนนิเมชั่น  เสี้ยวลิ้มยี่  (The Legend of Shaolin Kung Fu)
เชิญชม VDO น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
เชิญชม ประวัติศาสตร์การเมือง ตอน ปิดตำนานทักษิณ
เจ้าแม่กวนอิม

8 สัญลักษณ์มงคลแห่งทิเบต—ดินแดนที่ใกล้สวรรค์ที่สุด

สัญลักษณ์มงคลทั้ง 8 ของพุทธศาสนานิกายวัชรยาน

ทิเบต ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนานิกายวัชรยาน โดยวัชรยานได้เริ่มเผยแผ่เข้ามายังทิเบตในสมัยของพระเจ้าลาโธ โธรี เย็นเซ เมื่อปี 976 (ยุคก่อนประวัติศาสตร์ทิเบต) โดยได้รับคัมภีร์และพระพุทธรูปเข้ามา นับเป็นครั้งแรกที่ชาวทิเบตได้รู้จักกับศาสนาพุทธ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องด้วยชาวทิเบตส่วนใหญ่เลื่อมใสในลัทธิบอน ซึ่งเน้นความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ

จวบจนกระทั่งในปี ค.ศ.1173 ภายใต้การนำของซงจั้นกันปู้ กษัตริย์ผู้ยิ่งยงแห่งทิเบต (ยุคแรกของประวัติศาสตร์ทิเบต) ทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาพุทธศาสนาจากคัมภีร์ที่รับมา และประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จากการสนับสนุนของพระมเหสี 2 พระองค์ ซึ่งเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยองค์หนึ่ง คือ องค์หญิงเหวินเฉิง จากราชสำนักถังของจีน และอีกองค์คือ เจ้าหญิงภริคุติเทวี พระธิดาในพระเจ้าอัมสุวารมา แห่งเนปาล และเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคต่อๆ มา

พุทธศิลป์ของทิเบตใครเคยชม จะเห็นว่ามักมีรูปสัญลักษณ์อันเป็นสิริมงคลยิ่ง 8 อย่าง หรือที่เรียกว่า “อัษฏมงคล” (อัษฏ แปลว่า 8) ปรากฏอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ทั้งตามวัดวาอาราม บ้านเรือน และปราสาทราชวัง โดยชาวทิเบตเชื่อว่า สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 8 นี้ เป็นตัวแทนของพระวรกายของพระพุทธเจ้า อันได้แก่ “สังข์” เป็นตัวแทนของพระวจนะ, “ดอกบัว” คือ พระชิวหา (ลิ้น), “ธรรมจักร” คือ พระบาท, “ฉัตร” คือ พระเศียร, “เงื่อนอนันตภาคย์” คือ พุทธสติ, “ปลาทองคู่” คือ พระเนตรทั้งสองข้าง, “ธงแห่งชัยชนะ” คือ พระวรกาย และ “แจกันแห่งโภคทรัพย์” คือ พระศอ (คอ)



1. หอยสังข์ (The Conch Shell)

ลามะน้อยเป่าแตรสังข์

นับแต่โบราณมา สังข์ถูกใช้ประหนึ่งแตรเขาสัตว์ วีรบุรุษนักรบของอินเดียล้วนแล้วแต่มีสังข์คู่ใจทั้งนั้น และแต่ละคนก็จะตั้งชื่อสังข์ของพวกเขาแตกต่างกันออกไป ดังเช่น พระอรชุน ตัวเอกในมหากาพย์เรื่องดัง ครอบครองสังข์ที่ชื่อว่า “เทวทัต” ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ สามารถพิชิตอริราชศัตรู ดังนั้น แตรสังข์จึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ผู้ยิ่งใหญ่ และกษัตริย์ เสียงของสังข์เชื่อว่าสามารถขับไล่วิญญาณชั่วร้าย ขจัดภัยธรรมชาติ และขับไล่สัตว์มีพิษได้

สังข์ลายวนซ้าย-วนขวา

โดยสังข์นั้นมีลวดลายอยู่ 2 แบบ คือ ลายวนซ้าย และ วนขวา โดยหอยสังข์ที่ลายวนขวาตามเข็มนาฬิกานั้น นับเป็นของหายาก และนิยมใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น เพราะเชื่อว่าสังข์ที่มีลายก้นหอยวนขวานี้เสมือนการโคจรของพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวเคราะห์ และดวงดาว อีกทั้งยังวนขวาเป็นทักขิณาวัฏเช่นเดียวกับเส้นพระเกศา (ผม) พระอุณาโลม (ขนระหว่างคิ้ว) และพระโลมา (ขน) ของพระพุทธเจ้าด้วย

ปัจจุบันสังข์ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธนิกายวัชรยานในทิเบต โดยชาวทิเบตจะเป่าแตรสังข์เพื่อเรียกพุทธศาสนิกชนมาชุมนุมกัน และระหว่างประกอบพิธีกรรมทางศาสนาก็จะใช้สังข์เป็นทั้งเครื่องดนตรี และภาชนะบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วย

นอกจากนี้สังข์ในนิกายวัชรยานยังเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศความจริงแห่งธรรมะ ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระสุรเสียงในขณะแสดงธรรมของพระพุทธเจ้านั้นดังกังวานไปทั่วทั้ง 4 ทิศราวกับเสียงจากหอยสังข์





2. ดอกบัว (The Lotus)

พระอวโลกิเตศวร ประทับนั่งบนดอกบัว

ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวพุทธทุกนิกายคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ตามพุทธศิลป์ต่างๆ นั้นเรามักเห็นภาพพระพุทธเจ้า แลสาวกองค์สำคัญในอิริยาบถต่างๆ พร้อมด้วยดอกบัว ไม่ว่าจะเป็นประทับบนดอกบัว หรือ ถือดอกบัวในมือ ก็ตาม

ด้วยธรรมชาติของดอกบัวที่กำเนิดแต่โคลนตม แต่สามารถเติบโตจนเบ่งบานพ้นน้ำออกมารับแสงอาทิตย์ได้ ชาวพุทธในทิเบตจึงยกย่องให้ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แห่งการบรรลุธรรมขั้นสูงสุด นั่นคือ การหลุดพ้น

ดังที่ในคัมภีร์ลลิตวิสตระกล่าวไว้ว่า “จิตแห่งมหาบุรุษนั้นผ่องแผ้วไร้ซึ่งมลทิน ก็เปรียบเสมือนดอกบัวที่เกิดแต่โคลนตม แต่ยังสามารถรักษาความสะอาดบริสุทธิ์แห่งตนไว้ได้”





3. ธรรมจักร (The Wheel)

ธรรมจักร

ธรรมจักร หรือ กงล้อแห่งธรรม (Wheel of Dharma) แทนความหมายของการแสดงธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า โดยหลังจากที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว ก็ได้ทรงหมุนกงล้อแห่งธรรมทั้งสิ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์หลังตรัสรู้ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่เมืองสารนาท แคว้นพาราณสี ที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ส่วนครั้งที่ 2 และ 3 นั้น ทรงแสดงธรรม ณ เมืองกฤตธาราโกติ แคว้นราชคฤห์ และที่ไวศาลี

กงล้อธรรมจักรนั้นมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ แกนล้อ วงล้อรอบนอก และกำ ซึ่งแต่ละส่วนล้วนมีความหมาย “วงล้อรอบนอก” แทนความสมบูรณ์แห่งพระธรรม “แกนกลาง” แทนคำสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นแก่นของการฝึกเพื่อบรรลุนิพพาน และ “กำ” (ซี่ล้อ) 8 ซี่ เป็นตัวแทนของอริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8

ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ), สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ), สัมมาวาจา (เจรจาชอบ), สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ), สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ), สัมมาวายามะ (พยายามชอบ), สัมมาสติ (ระลึกชอบ) และ สัมมาสมาธิ (ตั้งใจชอบ)





4. ฉัตร (The Parasol)

ฉัตรทิเบต

ฉัตร หรือ ร่ม เป็นสัญลักษณ์ที่สืบทอดมายาวนานจากอินเดียโบราณ มีความหมายทั้งในแง่การปกปักรักษา และยังเป็นเครื่องหมายของราชนิกูลด้วย

ตามความเชื่อของฟากตะวันออกนั้น ได้มีการนำคุณประโยชน์ของร่มที่ใช้เพื่อกำบังแสงแดด มาตีความเชิงศาสนา ทำให้ฉัตรมีนัยยะของการปกปักรักษาผู้ถือครองให้พ้นจากความร้อนแห่งทุกข์ ราคะ และความเสื่อมทั้งหลาย

นอกจากนี้ในพุทธศาสนานิกายวัชรยานของทิเบตยังมีตำนานเล่าว่า เทพีฉัตรขาว ถือกำเนิดออกมาจากพระนลาฏ (หน้าผาก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเทพีองค์นี้เองที่ทำหน้าที่ปกป้องมนต์ดำต่างๆ และฉัตรขาวของพระองค์ก็เป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องคุ้มครองนั่นเอง

ชาวทิเบตเชื่อว่าฉัตรเป็นสัญลักษณ์ของภูเขาที่ค้ำจุนท้องฟ้า กล่าวคือ ส่วนที่ใช้กำบังแดดเปรียบดั่งท้องฟ้า และด้ามจับของร่มเปรียบดั่งภูเขา นอกจากนี้ยังมีแนวคิดว่า ด้ามจับเปรียบดั่งแกนกลางที่คอยค้ำจุนโลกไว้ ดังนั้นในงานศิลปะเชิงศาสนาของทิเบต จะนิยมวาดภาพฉัตรอยู่เหนือบุคคลสำคัญ ผู้ยิ่งใหญ่ หรือ พระพุทธเจ้า เพื่อเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ผู้ที่อยู่ใต้ฉัตรนั้นเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล





5. เงื่อนอนันตภาคย์ หรือ เงื่อนมงคล (The Endless Knot)

เงื่อนมงคล

เงื่อนอนันตภาคย์ หรือ เงื่อนมงคล มีลักษณะเป็นเงื่อนที่เชื่อมต่อกันตลอด สันนิษฐานว่าพัฒนาขึ้นมาจากสัญลักษณ์งูโบราณ 2 ตัว ซึ่งหมายถึง ความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ และส่งผลกระทบซึ่งกัน ระหว่าง 2 สิ่งที่ตรงข้ามกัน และนำไปสู่การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว

สัญลักษณ์งูโบราณ

ในแง่ของศาสนานั้น เพราะเป็นเงื่อนที่ไม่มีจุดเริ่มต้น และไม่มีจุดสิ้นสุด ดังนั้นเงื่อนอนันตภาคย์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความรู้แจ้งอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระผู้มีพระภาคเจ้า ส่วนในแง่ของสัญลักษณ์ทางโลกนั้น เงื่อนมงคลเปรียบเสมือนความรักที่มั่นคงยืนยาว





6. ปลาทองคู่ (The Golden Fishes)

ปลาทองคู่

ปลาทองคู่ถือกำเนิดจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 2 สายของอินเดีย คือ แม่น้ำคงคา และยมุนา ซึ่งเปรียบเสมือนจันทรมรรคาและสุริยมรรคาของร่างกายมนุษย์ที่ก่อกำเนิดขึ้นในโพรงจมูก และทำให้เกิดจังหวะการหายใจเข้าและออก หรือที่เรียกว่า “ปราณ”

ในศาสนาพุทธ ปลา เป็นสัญลักษณ์ของความสุขสำราญเบิกบานใจ เนื่องจากพวกมันว่ายไปมาอย่างอิสรเสรีในเวิ้งน้ำอันกว้างใหญ่ และคำว่าปลาในภาษาจีนยังออกเสียงว่า “อี๋ว์” (鱼) ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “อี๋ว์” (余) ที่แปลว่า มากมายเหลือเฟือ ดังนั้นปลาจึงเป็นตัวแทนของความมั่งมีเงินทอง และยังหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วย เพราะปลาเพิ่มประชากรเร็วมาก

นอกจากนี้ ลักษณะนิสัยของปลาที่ชอบว่ายน้ำกันไปเป็นคู่ๆ จึงทำให้ปลาทองคู่กลายเป็นตัวแทนของความซื่อสัตย์ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสามีและภรรยาด้วย ดังนั้นจึงมักเห็นชาวจีนมอบปลาทองคู่ให้เป็นของขวัญแต่งงาน





7. ธงแห่งชัยชนะ (The Victory Banner)

ธงแห่งชัยชนะ

เดิมทีธงแห่งชัยชนะใช้เป็นธงแห่งการศึกสงคราม จะติดอยู่ที่รถศึกของกษัตริย์ยามออกสู้รบ อย่างรถศึกของพระกฤษณะ ในเรื่องมหาภารตะ ก็ประดับด้วยธงแห่งชัยชนะ ที่มีรูปของหนุมาน

อย่างไรก็ตาม ต่อมาธงแห่งชัยชนะถูกประยุกต์ใช้ในทางพุทธศาสนา กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการรู้แจ้งขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เล่ากันว่า พระพุทธเจ้าทรงนำธงแห่งชัยชนะไปปักไว้บนยอดเขาพระสุเมรุ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะเหนือหมู่มารผจญทั้งปวง โดยตามเทวตำนานเชื่อว่ายอดเขาพระสุเมรุเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก และเป็นที่สถิตของเทพเจ้าทั้งหลาย นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า เขาพระสุเมรุเป็นแกนที่คอยค่ำโลกไว้

ชาวทิเบตเชื่อว่า ธงแห่งชัยชนะนี้จะช่วยให้สามารถพิชิตมลทินและอุปสรรคต่างๆ ที่ขัดขวางจากการถึงซึ่งความรู้แจ้ง





8. แจกันแห่งโภคทรัพย์ (The Treasure Vase)

แจกันแห่งโภคทรัพย์

แจกันแห่งโภคทรัพย์ มีรูปร่างจำลองมาจากหม้อน้ำดินเผาของชาวอินเดียดั้งเดิม มีฐานแบน รูปทรงกลม คอคอดกิ่ว และปากเป็นรูปขลุ่ย มีอัญมณีเม็ดประดับ บ่งชี้ว่านี่คือ แจกันแห่งทรัพย์สมบัติ ที่พอกพูนตลอดเวลา ไม่มีวันพร่องหรือหมดไป ในทางพุทธศาสนา แจกันแห่งโภคทรัพย์ก็เปรียบเสมือนความสมบูรณ์พร้อมทางด้านจิตวิญญาณของพระพุทธเจ้า

ในประเทศจีนนิยมประดับแจกันไว้ในบ้าน เพราะเชื่อว่าแจกันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรือง และ โชคลาภ

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"




ไปข้างบน