จารึกวัดโพธิ์ ได้รับเลือกเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกสิ่งใหม่ของไทย
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกำลังดูภาพวาดแสดงการกดจุด ที่ผนังศาลารายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ซึ่งเป็นจารึกวัดพระเชตุพน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก หรือ Memory of the World จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (ภาพ : โพสทูเดย์)
จารึกวัดโพธิ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกสิ่งใหม่ของเมืองไทยจากยูเนสโก โดยในวันที่ 31 มี.ค.นี้ จะมีการมอบประกาศนียบัตรมรดกความทรงจำแห่งโลก รวมทั้งงานรำลึกวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการจารึกสรรพวิทยาการต่างๆ ในวัดโพธิ์แห่งนี้ควบคู่กันไป
จารึกวัดโพธิ์ ติดอยู่บนเสาพระระเบียงรอบๆ พระอุโบสถ
ดร.มรว.รุจยา อาภากร คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก กล่าวว่า จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) จากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก (UNESCO)
โดยได้มีการรับรองแล้วที่ประเทศออสเตรเลีย และจะมีการส่งมอบประกาศนียบัตรมรดกความทรงจำแห่งโลกให้แก่วัดพระเชตุพนฯในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ที่โปรดเกล้าฯให้มีการจารึกสรรพวิทยาการต่างๆ ในวัดโพธิ์แห่งนี้
จารึกเกี่ยวกับโคลงกลอนต่างๆ
ทั้งนี้ แผนงานของยูเนสโกว่าด้วยความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World Program) เป็นแผนงานที่องค์การยูเนสโก กำหนดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2535 โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญ ด้านสารนิเทศจากองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนจากทั่วโลก มาประชุมหารือร่วมกันแผนงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ และการเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของโลก ที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกไว้ในรูปแบบใดๆ และไม่ว่าจะผลิตในประเทศใด ถือว่าเป็นแหล่งรวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทั้งในด้านของวัฒนธรรม และความคิดริเริ่มของมนุษยชาติ
สำหรับ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือวัดโพธิ์นี้ เดิมชื่อว่า วัดโพธาราม เป็นวัดโบราณที่ราษฎรสร้างมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มาจนในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นเสวยราชสมบัติ และได้ย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งพระนคร มีการสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ จึงทรงปฎิสังขรณ์วัดโพธารามที่อยู่ในบริเวณเดียวกันไปด้วย โดยได้รวบรวมช่างฝีมือเยี่ยมมาร่วมสร้างจนวิจิตรงดงามบริบูรณ์ด้วยศิลปะอันประณีตทั้งสิ้น และภายหลังวัดนี้ก็ได้ถือว่าเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 1
ในส่วนของจารึกวัดโพธิ์นั้น ได้เริ่มมีขึ้นในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยการบูรณะในครั้งนี้ พระองค์ได้ทรงมีพระราชประสงค์ ให้พระ อารามนี้เป็น “มหาวิทยาลัย” สำหรับประชาชนทั่วไป พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นำเอาสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ เช่น ตำราการแพทย์ โบราณคดี และวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทั้งหลายมาจารึกไว้ตามเสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ และศาลารายรอบพระมณฑปอีกด้วย
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|