“การตักบาตรข้าวเหนียว” และวัด ในเมืองหลวงพระบาง
วิธีชม VDO Clip ไม่ให้กระตุก กดปุ่ม PAUSE รอให้แถบสีเทาเข้มเต็ม จึงกดปุ่ม PLAY
วิถียามเช้าของชาวหลวงพระบางที่ยังคงงดงามมีเอกลักษณ์และเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ก็เห็นจะไม่มีอะไรเกิน “การตักบาตรข้าวเหนียว” ที่ในทุกๆเช้าของแต่ละวัน ชาวหลวงพระบางผู้แนบแน่นในพระพุทธศาสนาจะตื่นขึ้นมาแต่เช้าเพื่อเตรียมข้าวของไว้สำหรับตักบาตรข้าวเหนียว
หลังจากนั้นพอฟ้าเริ่มสาง เสียงตุ๊มๆๆ..ของ “กะลอ” (เครื่องเคาะของลาวมีลักษณะคล้ายกลอง) ดังขึ้นจากหลายๆวัด บรรดาญาติโยมต่างก็จะหอบหิ้วข้าวของมานั่งอย่างสงบรอพระออกบิณฑบาต ซึ่งหากเป็นวันพระจะมีเหล่าฆราวาสมารอตักบาตรข้าวเหนียวเป็นจำนวนมาก แต่หากเป็นวันปกติก็จะมีอยู่พอประมาณ
พอสิ้นเสียงกะลอได้ไม่นาน เหล่าพระสงฆ์นับร้อยรูปก็จะเดินเรียงแถวยาวเหยียดมาให้ญาติโยมได้ใส่บาตรกันจนถ้วนทั่ว
ภาพเหล่านี้คือวิถีปกติของชาวหลวงพระบาง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ การตักบาตรข้าวเหนียวคือภาพอันชวนตื่นตาตื่นใจ เป็นไฮไลท์ของการท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
ด้วยเหตุนี้เมื่อ “อุปสงค์” การตักบาตรข้าวเหนียวของนักท่องเที่ยวมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวลาวหลายๆ คนปิ๊งไอเดียนำข้าวเหนียวใส่กะติ๊บออกมาเร่ขายให้นักท่องเที่ยวเพื่อใช้ในการตักบาตรข้าวเหนียว
การตักบาตรข้าวเหนียวของหลวงพระบางยุคใหม่ในวันนี้ จึงมีการผสมผสานกันระหว่าง ภาพพระ-เณรที่ออกบิณฑบาตเป็นแถวยาวเหยียด ภาพญาติโยมชาวหลวงพระบางในชุดพื้นเมืองนั่งใส่บาตรอย่างนอบน้อมแต่ว่องไวในการจกข้าวเหนียวลงบาตร ภาพนักท่องเที่ยวร่วมตักบาตรข้าวเหนียวด้วยความศรัทธาผสมความตื่นเต้นและอยากลอง ภาพนักท่องเที่ยวมาตั้งกล้องรอบันทึกภาพตักบาตรข้าวเหนียว และภาพแม่ค้าหาบกะติ๊บข้าวเหนียวเร่ขายให้กับนักท่องเที่ยวที่นับวันยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ
วัดเชียงทอง อันงดงามที่เป็นดังอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว(ภาพ:เสรี ตันศรีสวัสดิ์)
หลวงพระบาง อดีตเมืองหลวงเก่าแก่ของลาว เมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาที่โอบล้อม อุดมไปด้วยวัดวาอารามเก่าแก่ วัดวาอารามต่างๆที่แทรกในใจกลางเมืองนี้มีวัดมากถึง 26 วัด
สำหรับวัดและอาคารบ้านเรือนที่เด่นๆก็มี วัดเชียงทอง วัดวิชุน วัดใหม่สุวันนะพูมาราม หอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง(พระราชวังหลวงเดิม)
วัดเชียงทอง เป็นวัดที่สำคัญ สวยงามและเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมากที่สุด นักโบราณคดียกย่องว่าวัดเชียงทองเป็นดั่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว สร้างขึ้นโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงไปยังนครเวียงจันทร์ไม่นานนัก ผนังด้านหลังของพระอุโบสถทำจากกระจกสีตัดต่อกันเป็นรูปต้นทองขนาดใหญ่
ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เคยมีอยู่ในหลวงพระบาง คล้ายกับต้นโพธิ์ ด้านข้างเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดี จุดเด่นที่น่าในใจอีกจุดของวัดเชียงทองอยู่ที่โรงเมี้ยนโกศ หรือโรงเก็บราชรถ ประตูด้านนอกแกะสลักเรื่องราวของรามเกียรติ์ โดยช่างแกะสลักชื่อ เพียตัน ช่างฝีมือดีประจำองค์เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา แต่เดิมเป็นการลงรักปิดทองแต่ปัจจุบันบูรณะใหม่ด้วยการทาสีทอง
พระราชวังหลวงเดิมสร้างอย่างสง่างามริมฝั่งแม่น้ำโขง(มองจากยอดพูสีฝั่งแม่น้ำโขง)
พระราชวังหลวงพระบาง สร้างขึ้นปี ค.ศ.1904 ก่อนเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ขึ้นครองราชสมบัติ 1 ปี ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูงแบบฝรั่งเศส แต่มีการผสมผสานระหว่างความเป็นฝรั่งเศสและลาว หลังคายอดปราสาทเป็นศิลปะลาวล้านช้าง ที่นี่จึงถูกเปรียบเทียบว่าเป็นลักษณะของ ฝรั่งสวมชฎา เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ประทับอยู่ที่นี่จนสิ้นพระชนม์ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงถูกเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์วังเจ้ามหาชีวิตแทน
ภายในประกอบด้วย ห้องฟังธรรม จัดแสดงธรรมาสน์ไม้แกะสลักสกุลช่างหลวงพระบาง และพระพุทธรูปสำริดสกุลช่างลาวโบราณ ช่วงศตวรรษที่ 17-19 ห้องที่สองด้านขวามือเป็น ห้องพิธี หรือ ห้องรับแขก มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวลาวโดยช่างฝีมือชาวฝรั่งเศส เมื่อปีพ.ศ.1930 ห้องที่สามเป็น ท้องพระโรง ประดับกระจกหลากสีบนพื้นสีทอง เป็นห้องที่เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาเตรียมไว้เพื่อทำพิธีราชาภิเษก แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงราชบัลลังก์ไม้แกะสลักหุ้มทองและเครื่องสูงทั้ง 5 ได้แก่
จามร รองพระบาท กระบี่หรือพระขรรค์ และพระแสงของ้าว ส่วนมหามงกุฎได้รับการเก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยไม่ได้นำมาแสดงไว้รวมกัน ส่วนด้านหลังเป็น ที่ประทับของเจ้ามหาชีวิต เครื่องใช้ไม้สอยเป็นแบบฝรั่งดูเรียบง่ายไม่หรูหรา เตียงพระบรรทมเป็นไม้สักฝีมือช่างไทยในสยามในสมัยนั้น
“พระธาตุจอมพูสี”
นอกจากสถาปัตยกรรมที่ชวนมองแล้ว เมืองหลวงพระบางนั้นมีใจเมืองหรือหลักเมืองอยู่ที่ “พระธาตุจอมพูสี” บนยอดพูสี ที่ตามตำนานเล่าว่า มีฤาษีสองพี่น้องคือ คืออามะละและโยทิกะ ได้เลือกพูสีเป็นใจเมืองเนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสม
ปัจจุบันพูสีนับเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวอันสำคัญของเมืองหลวงพระบางที่ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดพูสีกันไม่ได้ขาด
ยอดพูสีมีทางขึ้น 2 ทาง แต่ว่าคนส่วนใหญ่นิยมขึ้นพูสีโดยใช้เส้นทางริมถนนกลางเมือง แล้วเดินขึ้นไปบนบันได 328 ขั้น ที่ระหว่างทางร่มรื่นไปด้วยซุ้มต้นจำปา(ลั่นทมหรือลีลาวดี)ดอกไม้ประจำชาติลาว ซึ่งหากใครมาช่วงจำปาออกดอกก็จะได้สัมผัสกับกลิ่นหอมเย็นของดอกจำปาอบอวลทั่วไป
พอถึงบนยอดพูสี ข้างบนจะมีพระธาตุจอมพูสี ที่สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2347 ตั้งโดดเด่นเป็นสีทอง ยิ่งยามที่ต้องกับแสงแดดอ่อนๆสีทองในยามเย็นนั้นองค์พระธาตุจอมพูสีจะต้องแสงดูเหลืองทองอร่ามงามตานัก
ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของพูสีก็คือในช่วงวันสังขานของเทศกาลสงกรานต์ ชาวหลวงพระบางจะพร้อมใจกันร่วมตักบาตรพูสีด้วยการเดินขึ้นพูสี นำอาหารไปวางไว้ตามทางเดินและโยนขึ้นไปยังองค์พระธาตุเพื่อเป็นการทำบุญทำทานรับวันปีใหม่ลาว
ส่วนในวันปกติยอดพูสีคือจุดชมวิวเมืองหลวงพระบางชั้นยอด ที่หากมองไปทางฝั่งแม่น้ำโขงก็จะเห็นพระราชวังหลวงเดิมตั้งเด่นเป็นสง่าริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนหากมองไปในด้านตรงข้ามก็จะเห็นสายน้ำคานไหลเลี้ยวเคียงคู่กับอาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างอย่างหลวมๆท่ามกลางขุนเขารายล้อม
และที่น่าสนใจก็คือหลวงพระบางในวันนี้ยังไม่มีตึกสูงขึ้นโด่เด่มาทำลายทัศนียภาพของเมืองอันสงบงาม...
ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูล จาก ผู้จัดการออนไลน์
|