การศึกษาและการนั่งสมาธิภาวนานี่ ขอให้เราเอากันเพียงแค่ทำจิตให้มีสมรรถภาพในการที่จะแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันให้ลุล่วงไปได้สะดวกสบายเท่านั้นเป็นการเพียงพอแล้ว แต่ถ้าใครสามารถจะทำได้ดีกว่านั้น ก็สำเร็จ โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ เพราะฉะนั้น จะเป็นนักภาวนาอย่าไปมุ่งมาก อย่าไปหวังแต่มรรคผลนิพพาน คือว่าอย่าไปทำความอยากให้มันมาก ตั้งใจแต่ว่า ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท เราจะต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกอย่าง ท่านสอนให้มีศีล ๕ หากเรามีไม่ครบ ๕ เราเอาสักข้อใดข้อหนึ่ง และจะต้องปฏิบัติให้ได้ ก็ยังเป็นความดี ท่านสอนให้ทำสมาธิ แม้ว่าเราทำสมาธิเพื่อพระนิพพานไม่ได้ ก็ทำสมาธิขนาดพอมีสติปัญญา มีสติสัมปชัญญะพอที่จะต่อต้านกับเหตุการณ์ที่เราจะประสบอยู่ทุกวันๆ สามารถที่จะแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันได้ก็เป็นการเพียงพอ ในเมื่อเราปรับปรุงทุกอย่างเป็นการพอดีแล้ว มันก็เป็นพื้นฐานที่จะก้าวไปสู่ระดับสูงๆ ต่อไป
อีกอย่างหนึ่ง บางท่านเมื่อปฏิบัติแล้วอยากจะให้จิตมันเป็นได้เร็ว รู้ได้เร็ว เห็นได้เร็ว บางทีก็อยากจะดูนรก ดูสวรรค์ รู้จิตใจคน อยากมีโทรจิตอะไรต่ออะไร ซึ่งมันเป็นเรื่องภายนอก สิ่งเหล่านั้นแม้แต่รู้ได้เห็นได้ สามารถเพียงใดแค่ไหน ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาภายในจิตใจของเรา ไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของเราได้ มันก็ไม่มีความหมายสำหรับเรา เราอาจจะช่วยคนอื่นได้ แต่ช่วยตัวเองไม่ได้ เข้าทำนองที่ว่า "ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" ขอฝากให้นักศึกษาธรรมะทั้งหลายเอาไว้พิจารณาด้วย
ขอเตือนไว้อีกอย่างหนึ่งด้วยว่า หากท่านจะเป็นนักภาวนาจริงๆ อย่าได้ไปสงสัยในคำภาวนาหรือในวิธีการปฏิบัติ ถ้าท่านไม่มีเวลาพอที่จะภาวนาหรือนั่งหลับตา อย่างน้อยท่านยกมือใส่หัวแล้วนึกว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วนอนลงไป และนึก พุทโธๆๆ จนกว่าจะนอนหลับ ตื่นขึ้นมาเมื่อใด ท่านนึกพุทโธเอาไว้ จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เอาจิตไว้ที่พุทโธตลอด การที่เอาจิตมาอยู่กับพุทโธนี้เป็นการตั้งใจ การตั้งใจนี้เป็นการตั้งสติ ในเมื่อเราตั้งใจบ่อยๆ จดจ้องบ่อยๆ ไม่พรากจากความตั้งใจสติสัมปชัญญะตัวนี้มันจะมีสมรรถภาพดีขึ้น อันนี้คือวิถีทางสร้างพลังจิต ในเมื่อสติสัมปชัญญะดีขึ้น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มันก็ดีขึ้น เพราะสติที่มั่นคงแล้ว จะเป็นตัวปัญญา เมื่อมีสติมั่นคงกลายเป็นตัวปัญญาแล้ว ความคิดที่มันทำให้เราวุ่นวายอยู่แต่ก่อน เรื่องที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เข้ามาแล้วมันทำให้วุ่นวาย ทำให้เราทุกข์ร้อน แต่ถ้าเรามีสมาธิมีสติดีแล้ว เรื่องที่เคยทำให้เราวุ่นวายอยู่แต่ก่อนนั่นแหละมันจะกลายมาเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ความคิดอันนั้นจะกลายเป็นปัญญา เรามีสติรู้เท่าทันอาการเหล่านั้น ไม่หลง ไม่ยึด ไม่ถือ จิตที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้ว กระทบอะไรก็สักแต่ว่ากระทบ กระทบแล้วก็ปล่อยวางไป ถึงจะมีความหงุดหงิดใจก็มีสติยับยั้งชั่งใจ ไม่พรวดพราดทำความเสียหายขึ้นมาในทันทีทันใด นี่คือผลของการทำสติ
สรุปลงไปอีกครั้งหนึ่งว่า การปฏิบัติธรรม จะด้วยวิธีใดก็ตาม จุดมุ่งหมายอยู่ที่ความมีสติสัมปชัญญะ ในเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะเข้มแข็งดีแล้ว จิตจะกลายเป็นมหาสติ มหาสติเป็นสติอันยิ่งใหญ่ เป็นพละ เป็นกำลัง เป็นอินทรีย์ สติตัวนี้จะทำจิตใจให้มีความประพฤติดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้องซึ่งเรียกว่า อริยมรรค