การปรับปรุงสภาวธรรมของตน

โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

แต่จะด้วยประการใดก็ตาม เรื่องของธรรมะนี้ ถ้าจะว่ากันตามแบบแผนตามตำรากันจริงๆ แล้ว รู้สึกว่ามันจะเป็นเรื่องสับสน หากพูดถึงคัมภีร์พระไตรปิฎกก็มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวบรวมเป็นหนังสือเฉพาะตัวภาษาบาลีมีถึง ๔๕ เล่ม แต่ละเล่มยกแทบไม่ไหว ทุกเล่มนั้นบันทึกธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เรามาทำความเข้าใจในการศึกษาธรรมะ เราพอที่จะย่นหัวข้อไว้ได้ ๒ ประเด็น

๑. การศึกษาธรรมะตามแบบหรือตำรับตำรา

๒. การศึกษาธรรมะตามสภาพความเป็นจริง

การศึกษาธรรมะตามแบบหรือตามตำรับตำรานั้นเป็นสิ่งที่เราจะต้องพากเพียร พยายามท่องบ่น จดจำ รู้สึกว่าเป็นภาระมากมายเหลือเกิน จนกระทั่งว่าเราจะตั้งใจศึกษาธรรมะนี้ จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็ยังไม่จบ เพราะคำว่าธรรมะนี้มันมากมายกว้างขวางเหลือเกิน แต่ที่เราจะมาศึกษาธรรมะตามสภาพความเป็นจริง รู้สึกว่ามันจะย่นเข้ามาสั้นหน่อย จะใช้เวลาการศึกษาแบบที่เรียกว่าเอาชีวิตเป็นเดิมพันเหมือนกัน แม้ว่ามันจะสั้นก็ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ผลลัพธ์มันต่างกัน การศึกษาธรรมะตามสภาพความเป็นจริงมันทำให้เรารู้จักของจริง แต่ก่อนที่จะพูดถึงว่าของจริงคืออะไรนั้น ใคร่จะแยกธรรมะที่เกี่ยวเนื่องหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าออกเป็น ๒ ประเด็น

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

ประเด็นแรก หมายถึงสภาวธรรมที่เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด

ประเด็นที่สอง หมายถึงธรรมะคำสั่งสอน ได้แก่ กฎหรือระเบียบที่จะปรับปรุงหรือกล่อมเกลาให้มีสภาพดียิ่งขึ้น ธรรมะส่วนที่เป็นสภาวธรรม ถ้าจะถามว่าธรรมะอันเป็นสภาวธรรมนั้นคืออะไร เราก็จะได้คำตอบว่า ธรรมะอันเป็นสภาวธรรม คือ กายกับใจ และสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ประสบอยู่ทุกลมหายใจไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ซึ่งในหลักธรรมะตามคัมภีร์ ท่านก็กล่าวว่า "อันว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวง" สังขารทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นหัวข้อใหญ่ๆ ก็มีอยู่ ๒ ประเภท

ประเภทที่หนึ่ง คือสังขารที่มีใจครอง ได้แก่ สิ่งที่มีจิตใจและร่างกาย จะเป็นอะไรก็ตาม

ประเภทที่สอง คือสังขารที่ไม่มีใจครอง ได้แก่ สิ่งที่มีแต่รูปร่างแต่ไม่มีจิตมีใจ ได้แก่ ดินฟ้าอากาศ ภูเขา ต้นไม้ หรือแดด ลม ฝน หรืออะไรในทำนองนี้ เป็นสังขารไม่มีใจครอง ทั้งสองประเภทนี้อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าเป็นสภาวธรรม

ธรรมะส่วนที่เป็นสภาวธรรมที่มีใจครอง จะพูดเฉพาะแต่มนุษย์เราฝ่ายเดียว มนุษย์เรานี้มีกายกับใจ มีกายกับใจเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าสอนว่า "ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ" ในเมื่อใจเศร้าหมอง การพูด การทำ การคิด ก็เป็นไปในทางทุจริต คือชั่วโดยกายและวาจา ในเมื่อจิตผ่องแผ้ว มันก็เป็นไปเพื่อความสุจริต ซึ่งเรียกว่า ดีด้วยกาย ดีด้วยใจ ดีด้วยวาจา เพราะฉะนั้น ในกายของเรามีใจเป็นใหญ่ ในโลกนี้เราสรุปความเห็นของคนทั่วๆ ไปได้ ๒ ทาง

๑. เห็นว่ากายอยู่ในใจ

๒. เห็นว่าใจอยู่ในกาย

ผู้เห็นว่ากายอยู่ในใจ หมายถึงใจเป็นใหญ่ เป็นผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะทางความสุข เมื่อเราจะแสวงหาความสุขให้แก่ใจ แม้ว่าส่วนร่างกายจะทนทุกข์ทรมานบ้างก็ยอมเสียสละ เช่นอย่างนักบวชทั้งหลายต้องการความสุขให้แก่ใจ เมื่อเป็นคฤหัสถ์รับประทานอาหารวันหนึ่ง ๓ มื้อ แต่เมื่อบวชแล้วต้องรับประทานวันละ ๑-๒ มื้อ อีก ๑ มื้อหรือ ๒ มื้อนั้นตัดทิ้งไป เพราะเข้าใจว่าโดยวิธีนี้จะทำให้ใจมีความสุข ในบางครั้งก็ทนนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม โดยไม่คำนึงถึงความเจ็บป่วยที่จะมีขึ้นแก่ร่างกาย ขอให้แต่มีความสุขเกิดขึ้นกับใจเป็นพอ อันนี้สำหรับบุคคลผู้เห็นว่ากายอยู่ในใจ

ส่วนบุคคลที่เห็นว่าใจอยู่ในกาย เขาย่อมประกอบกิจต่างๆ ที่เขาเห็นว่าจะทำให้ร่างกายมีความสุข แม้จะเป็นทางที่ผิดบ้างถูกบ้าง ผิดศีลธรรมบ้าง ผิดกฎหมายบ้าง ขอแต่ให้กายเรามีความสุข นี่เป็นความเห็นของคนในโลกนี้ มี ๒ ประเภท

แต่จะด้วยประการใดก็ตาม การจะแสวงหาความสุข เราก็ต้องพิจารณาดูความพอเหมาะพอดี คือกายก็ไม่ต้องทรมานกันมากนัก เพราะกายกับใจถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าใจเกิดทุกข์ก็จะผิดปกติ ซูบซีดมัวหมองลงไป แต่ถ้ากายมีทุกข์ จิตใจก็เศร้าสร้อยลงไป เพราะฉะนั้น ทั้ง ๒ อย่างนี้ เราจะต้องทำนุบำรุงหรือปรนนิบัติ โดยนโยบายเท่าๆ กัน ไม่มีอะไรจะยิ่งหย่อนกว่ากัน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ว่าเป็นไปด้วยความพอเหมาะพอดี ซึ่งเรียกว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" อ่านต่อ...