วิธีสร้างพลังจิตปราบขันธมาร
ตอน 4

แต่คนทั้งหลายเขาว่าอย่างนี้ หลวงพ่อเคยเทศน์ว่า ขณะที่บริกรรมภาวนาอยู่ ถ้าจิตอยู่กับบริกรรมภาวนาปล่อยให้มันอยู่ไป แต่ถ้ามันทิ้งบริกรรมภาวนาไปคิดอย่างอื่น ก็ควรปล่อยให้มันไปบ้าง แต่อย่าลืมทำสติกำหนดตามรู้มันเรื่อยไป มีพระองค์หนึ่งบอกว่า ทำอย่างนั้นมันก็ยิ่งฟุ้งใหญ่ซิ เขาว่าอย่างนั้น เราลองดูว่ามันจะฟุ้งไหม ถ้าเราจะคิดว่า ในขณะใดที่เราบังคับจิตของเราให้หยุดนิ่งหรืออยู่กับบริกรรมภาวนาไม่ได้ ถ้าเราจะคิดว่า เอ้า! แกจะคิดไปถึงไหนฉันจะตามดูแก แกจะลงห้วยลงเหว ขึ้นฟ้าขึ้นสวรรค์ลงนรกฉันจะตามแกไป ไปจนสุดกำลังนั่นแหละ ลองดูซิโอกาสที่จิตมันจะสงบเป็นสมาธิเพราะการตามดูอารมณ์จิตนี่มันจะมีได้ไหม! โอ๊ย ! อันนี้มีแต่จะไปเชื่อคนอื่นเขา คนว่าภาวนาพุทโธ ๆ ๆ จิตมันจะสงบ สว่าง มีสมาธิ มีปีติ มีความสุขก็ไปเชื่อ ทั้งที่ตัวเองก็ทำไม่ได้ แล้วก็ไปยึดอยู่นั่นแหละ ทีนี้ทีหลังมาคนอื่นเขาว่ายุบหนอพองหนอ ๆ ๆ จิตเขาสงบ นิ่ง ว่าง สว่าง มีปีติ มีความสุข พอได้ยินเขา ตัวไม่เคยยุบเคยพองกับเขา ก็หาว่าเขาปฏิบัติไม่ถูกเหมือนกัน นักปฏิบัติของเราอย่าเป็นเช่นนั้น ให้พยายามทำใจให้มันเป็นกลางต่อวิธีการปฏิบัติที่กล่าว ๆ ที่เถียง ๆ กัน ขัดกัน แย้งกันอยู่นั่นน่ะ เป็นแต่เพียงไปยึดอยู่ที่วีการเท่านั้นเอง เช่นอย่างบางทีทางท่านก็ว่าภาวนาพุทโธ ๆ จิตมันสงบเป็นสมถะเท่านั้น ไม่ถึงวิปัสสนา บางทีของท่านภาวนายุบหนอพองหนอ จิตสงบวูบลงสว่างโพลงถึงวิปัสสนาแล้ว ภาวนาพุทโธจิตสงบวูบลงนิ่งสว่างโพลงเป็นสมถะ แล้วทีนี้เมื่อภาวนา ๒ อย่างนี้ เวลาจิตมันสงบแล้ว จิตมันเหมือน ๆ กันนี่ จะเรียกว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา จิตสงบนิ่งรู้อยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียวหรือไปรู้อยู่ในสิ่งสิ่งเดียว มันเป็นสมถะทั้งหมดนั่นแหละ ทีนี้จิตที่สงบลงเป็นสมถะนั้น มันก็มีวิปัสสนาอยู่ด้วยกันนั่นแหละ มันมีอยู่ด้วยกันอย่างไร

ประการแรก เราจะได้รู้ว่า สภาพจิตนี่ ถ้าเราฝึกฝนอบรมแล้วมันเปลี่ยนได้ เปลี่ยนจากความวุ่นวายไปสู่ความสงบเยือกเย็น เปลี่ยนจากความเดือดร้อนไปสู่ความสุขความเยือกเย็น เพียงแค่นี้ก็มองเห็นแล้วว่ามันเปลี่ยนแปลงไป ถ้าจิตไปกำหนดหมายความเปลี่ยนแปลง มันกำหนดรู้อนิจจังแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใครมีจิตสงบเป็นสมาธินิ่งลงไปสว่างโพลงขึ้นมา ก็รู้ทันทีว่านี้คือสมาธิ ความสงบนิ่งของจิตเป็นสมาธิคือสมถะ ความรู้ว่าสมาธิเป็นอย่างนี้ จิตสงบเป็นสมถะเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้ ความรู้แจ้งเห็นจริงหายสงสัยนั่นคือวิปัสสนา จะไปเที่ยวถกเถียงกันให้มันปวดสมองทำไม ทีนี้การแก้ปัญหาเรื่องธรรมะต่างๆ นี่แก้กันที่ตรงไหน แก้กันที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

“จักขุนา สังวโร สาธุ” การสำรวมตาเป็นการดี
“โสเตนะ สังวโร สาธุ” การสำรวมหูเป็นการดี
“ฆาเนนะ สังวโร สาธุ” การสำรวมจมูกเป็นการดี
“ชิวหายะ สังวโร สาธุ” การสำรวมลิ้นเป็นการดี
“กาเยนะ สังวโร สาธุ” การสำรวมกายเป็นการดี
“มนสา สังวโร สาธุ” การสำรวมใจเป็นการดี
“สัพพัตถะ สังวโร ภิกขุ” ภิกษุสำรวมในที่ทั้งปวงย่อมพ้นจากทุกข์ มันพ้นอย่างไร สำรวมตานี่สำรวมอย่างไร มีตาแล้วไม่ดูอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่! ดู แต่ต้องให้มีสติ อย่าให้มันเป็นตาหาเรื่อง หูได้ยินเสียงก็อย่าให้เป็นหูหาเรื่อง จมูกก็อย่าให้เป็นจมูกหาเรื่อง ลิ้นก็อย่าให้เป็นลิ้นหาเรื่อง กายก็อย่าให้เป็นกายหาเรื่อง ประเดี๋ยวยกตัวอย่างเช่น พระเถระกรรมฐานใหญ่โตเดินมา เขาจัดกุฏิร้างๆ ให้พัก ก็ว่าเขาทำไม่สมเกียรติสมยศเรา แน่ะ! กายมันเป็นกายหาเรื่อง มันอยากนอนที่ดี ๆ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมนี่อยู่ที่การฝึกสติสัมปชัญญะให้รู้พร้อมอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สามารถแก้ไขปัญหาและชีวิตปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นแหละคือความมีสติปัญญา ความรู้แจ้งเห็นจริง รู้ว่าอะไรเป็นบาป รู้ว่าอะไรเป็นบุญ แก้บาปให้มันมาก ๆ เพิ่มบุญให้มันมาก ๆ มันก็เป็นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่มันอยู่ที่ความตั้งใจนะ พระพุทธเจ้าท่านบอกแล้วว่า “อักขาตาโร ตถาคตา” ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก ใครจะได้ดิบได้ดีทำเอา และอีกอย่างหนึ่งก่อนจะจบบรรยาย ขอแนะนำวิธีสร้างพลังจิต

การนอนเป็นเวลา การตื่นเป็นเวลา การรับประทานเป็นเวลา การขับถ่ายเป็นเวลา การอาบน้ำชำระกายเป็นเวลา ทำอะไรให้ตรงต่อเวลา แล้วก็ให้มีสัจจะไว้ในใจว่า เราจะทำอะไรให้มันจริงใจสักอย่างหนึ่ง ให้เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ของใจ นี่คือแผนการสร้างพลังจิตพลังใจ การทำอะไรเป็นเวลาตรงไปตรงมา มันเป็นการสร้างสัจจบารมี ถ้าใครมีสัจจะความจริงใจ มีสัจจบารมี ใกล้ต่อการตรัสรู้ ถ้าขาดสัจจะความจริงใจแล้ว ยังห่างพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ไปบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์ พระอานนท์เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองพระนครหนึ่ง เมื่อถึงหน้าแล้งพระฤาษีก็เหาะมาทางอากาศ มาพักอยู่ในสวนอุทยานของพระเจ้าแผ่นดินอานนท์ ทีนี้พระเจ้าแผ่นดินอานนท์ทรงทราบเสด็จไปเฝ้านมัสการถวายการอุปถัมภ์อุปัฏฐาก เพราะบารมีที่ท่านสร้างร่วมกันมาเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจให้เอาใจใส่กัน พระฤาษีก็อนุเคราะห์ด้วยธรรมะด้วยอิทธิฤทธิ์ อธิษฐานจิตให้พระราชาพระราชินีมีความสุขความสบาย ถวายการอุปัฏฐากด้วยการนิมนต์มาฉันจังหันในพระราชวังทุกวัน

ทีนี้อยู่มาในกาลครั้งหนึ่ง ข้าศึกมันมาประชิดชายแดน เรียกว่าโจรผู้ร้ายมันก่อจลาจลขึ้นมา พระเจ้าแผ่นดินยกทัพไปปราบโจร มอบการอุปัฏฐากพระฤาษีไว้กับพระราชินี พระราชินีก็ทรงทำธุระหน้าที่แทนพระองค์เป็นอย่างดี แต่อยู่มาวันหนึ่ง เจ้ากรรมพระราชินีจัดสำรับมาวางไว้ คอยแล้วคอยเล่าพระฤาษีก็ไม่เสด็จมาสักที ถ้าพระฤาษีมาก็เหาะมาเข้าทางหน้าต่าง ไม่ได้เดินต๊อก ๆๆ มา เหมือนอย่างเรา บังเอิญวันนั้นพระราชินีคอยแล้วคอยเล่า จนทรงเหน็ดเหนื่อย ก็เอนพระวรกายลงไป ม่อยหลับไป หลับอย่างสนิท ฝ่ายพระฤาษีก็เข้าฌานสมาบัติเพลิน พอออกจากฌานสมาบัติ เอ้า! ได้เวลาฉันจังหันแล้ว อธิษฐานจิตเข้าสู่สมาบัติเหาะมาทางอากาศ พอเหาะมาทางอากาศ ผ้าเครื่องนุ่งห่มของพระฤาษีบางทีก็ใช้เปลือกไม้บ้าง บางทีก็ใช้หนังเสือบ้าง พอเหาะมาทางอากาศ กระโดดลงมาภายในห้องท้องพระโรง พระราชินีกำลังบรรทมหลับสะดุ้งองค์ตื่นขึ้นมิได้ระวังองค์ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง กลายเป็นการยั่วยวนให้พระฤาษีเกิดกิเลส พอเสร็จแล้วฌานพระฤาษีเสื่อม ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดศีล ทนไม่ไหวก็กระโดดปล้ำพระราชินี เลยฉันจังหันเสร็จ หลังจากนั้นก็เหาะมาทางอากาศไม่ได้ ต้องเดิน เดินมาฉันจังหัน ฉันทั้งจังหันเช้า ฉันทั้งจังหันเพล แล้วก็กลับไปสู่สวนอุทยาน จนกระทั่งพระราชาปราบข้าศึกสงบราบคาบลง เสด็จกลับพระราชวัง นางสนมกำนัลก็คอยทูลว่า พระราชินีทำมิดีมิร้ายกับพระฤาษีแล้ว พอพระองค์ทรงทราบ พระองค์ก็พิจารณาด้วยวิจารณญาณขงอนักปราชญ์ โดยตั้งพระทัยว่า ถ้าเราจะไปถามพระฤาษี ถ้าพระฤาษีรับอย่างไรเราก็รับอย่างนั้น ปฏิญาณอย่างไรเราก็จะรับอย่างนั้น ทีนี้พอเสด็จไปเฝ้าถามพระฤาษีว่า พระคุณเจ้าประพฤติอย่างนั้นจริงไหม พระฤาษีก็พิจารณาว่าพระราชาเคารพนับถือเรา ถ้าเราจะโกหกพระองค์ก็ต้องทรงเชื่อ แต่ว่าเรื่องอะไร เราสร้างบารมีเพื่อตรัสรู้แล้วจะมาเสียสัจจะ เราจะทูลไปตามความจริงดีกว่า พอพระราชาถามว่าจริงไหมเล่า จริงพระเจ้าข้า แหม! พระคุณเจ้าช่างเคร่งในสัจจบารมีเสียจริงๆ การประพฤติเช่นนี้มีโทษถึงคอขาด ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าเราเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมลงโทษผู้กระทำผิดได้โดยอาญา ด้วยอำนาจของเรา แต่ท่านก็ไม่กลัวความตาย น่าอัศจรรย์ เอาล่ะ พระคุณเจ้าที่พระคุณเจ้าประพฤติล่วงเกินไปนั้นขอถวายไม่เอาเรื่อง แต่ต่อไปพระคุณเจ้าอย่าประพฤติเช่นนั้นอีก เราอภัยโทษ พอเสร็จแล้วพระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จกลับพระราชวัง แล้วก็ไม่ทรงกริ้ว ไม่เอาโทษพระมเหสีใด ๆ ทั้งนั้น ส่วนพระฤาษีพอได้รับอภัยแล้วก็มาพิจารณาว่า ความฉิบหายวายวอดเป็นเพราะเรามาสู่แดนมนุษย์ มาสู่แดนมนุษย์นี่มันมีแต่ภัยอันตราย พระอาจารย์ของเราก็สอนไว้ว่ามาสู่แดนมนุษย์ให้ระวังสัตว์มีเขาที่อกมันจะขวิดเอาตาย เราก็มาเจอเอาเสียจริงๆ อย่างนี้ซิ อย่าเลย ต่อไปนี้เราไม่มาใกล้มันอีกแล้ว เสร็จแล้วก็อธิษฐานจิตเข้าฌานสมาบัติเหาะหนีไปอยู่ป่าหิมพานต์ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า นี่คืออำนาจของสัจจบารมี

ความจริง ผิดรู้ว่าตัวผิด ถูกรู้ว่าตัวถูก ไม่โกหกใคร ผิดรับไปตามผิด ถูกรับไปตามถูก นั่นเป็นการสร้างสัจจบารมี เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายก็ควรจะได้ฝึกหัดตัวเองให้มีสัจจบารมีบ้าง เราจะสวดมนต์ทำวัตรร่วมกันทุกวัน จะนั่งสมาธิทุกวัน เดินจงกรมทุกวัน จะนั่งสมาธิชั่วโมงหนึ่งก็นั่งให้มันได้ ๓๐ นาทีก็นั่งให้มันได้ อย่าไปเหลาะแหละ นี่คือการสร้างบารมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงปู่เสาร์ที่ท่านสอนให้นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ อันนี้เป็นหลักคำสอนเบื้องต้น ท่านเคี่ยวเข็ญนักหนา ถ้าใครปฏิบัติได้แล้วท่านบอกว่ามันจะมีสัจจะความจริงใจ