ณ โอกาศต่อไปนี้ เป็นเวลาที่จะได้ฟังธรรมะอันเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ แปลว่าวันฟังธรรม อุบาสก อุบาสิกา ได้มาฟังธรรม จำศีลอุโบสถ และพร้อมกันนี้ก็มีข้าราชการสาธารณสุขมาร่วมฟังเทศน์ด้วย
การฟังธรรม แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่ง เราฟังพระที่ท่านเทศน์เรื่องธรรมะ อีกอย่างหนึ่ง เราฟังใจของเรา ให้เราพยายาม ฟังลงที่ใจ ใจของเรามีสภาวะอย่างหนึ่งซึ่งเป็นธรรมชาติรู้ ธรรมชาติรู้นั่นแหละคือพุทธะที่อยู่ในใจของเราดังนั้น จะเป็นใครก็ตามที่มีใจเป็นผู้รู้ ผู้นั้นชื่อว่ามีธาตุแท้แห่งความเป็นพุทธะ พระพุทธเจ้าท่านเป็นพุทธะก็เพราะท่านมีใจ ท่านก็เอาใจค้นคว้าสภาพความเป็นจริงของสภาวธรรม สภาวธรรมอันเป็นหลักก็คือกายกับใจนั้นเอง
เรามีกายกับใจเป็นธรรมะ อันเป็นของของตน ธรรมะอันนี้พระพุทธเจ้าเทศน์ว่า มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย เป็นประจำ ซึ่งความเกิดนั้นใครๆ ก็อาจจะชอบ แต่ความแก่ ความเจ็บ และความตายนั้น เข้าใจว่าทุกคนไม่ชอบ แต่ใครจะชอบก็ตาม ไม่ชอบก็ตาม มันก็เป็นสิ่งที่ดำเนินไปตามกฎของธรรมชาติ ในเมื่อมีเกิด แล้วก็แก่ แก่แล้วเจ็บ เจ็บแล้วก็ตาย คนเราเกิดมามีความเป็นอยู่เพราะอาศัยอาหารเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต แต่เมื่อน้อยเรารับประทานอาหารเพื่อความเจริญ เด็กรับประทานอาหารแล้วก็มีการเจริญเติบโตขึ้นโดยลำดับจนกระทั่งถึงความเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มที่ ในเมื่อเรามีความเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มที่แล้ว ต่อไปเราจะรับประทานอย่างไร ร่างกายของเราก็ไม่มีความเจริญขึ้น มีแต่ความเจริญลง ซึ่งเรียกว่า ความเสื่อม มันเริ่มเสื่อมไปหาความแก่ ความเจ็บ และความตาย ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราพิจารณาเนืองๆ ว่า
ชะราธัมโมมหิ ชะรัง อะนะตีโต เรามีความแก่เป็นธรรมดา จักล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้
พะยาธิธัมโมมหิ พะยาธิง อะนะตีโต เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จักล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้
มะระณะธัมโมมหิ มะระณัง อะนะตีโต เรามีความตายเป็นธรรมดา จักล่วงพ้นความตายไปไม่ได้
อันนี้เป็นอุบายสอนให้เรารู้สึกสำนึกในสภาพความเป็นจริงว่า ร่างกายและชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่เรารักและหวงแหนอย่างยิ่ง แม้ว่าเราจะรักจะหวงแหนอย่างไรก็ตาม ก็ย่อมไม่พ้นจากความแก่ ความเจ็บ และความตาย
ทีนี้เรามาพิจารณาดูอีกทีที่ว่า ในเมื่อเรารู้ว่าเราจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เรามีกายกับใจเป็นสมบัติของตัวเอง เราจะปล่อยให้เราเกิดมา แล้วก็แก่ เจ็บ ตาย แก่ เจ็บ ตาย เพียงแค่นั้นหรือ หรือว่าเราควรจะทำอะไรบ้าง
พระพุทธเจ้าจึงสอนในขั้นต่อไปว่า กัมมัสสะโกมหิ กัมมะทายาโท กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ กัมมะปะฏิสะระโณ เรามีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เพื่อจะให้ปลูกใจเชื่อลงไปว่า เราเกิดมาด้วยอำนาจของกรรม
คนเราทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ได้นี้ก็เพราะอาศัยกรรมเก่า โดยหลัก ท่านว่า ต้องมีศีล ๕ และกรรมบถ ๑๐ จึงจะเกิดมาเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ คือ พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ ถ้าหากว่าขาดตกบกพร่องส่วนใดส่วนหนึ่ง เพียงเล็กน้อยหรือมากก็ตาม อันนั้นได้ชื่อว่าบุญกุศลแต่ปางหลังของเราไม่พร้อม ความมีศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ ของเราขาดตกบกพร่อง แล้วเราก็จะได้รับผลอย่างนั้น
และอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าสอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนี้ก็เป็นกฎความจริงอันหนึ่ง ซึ่งความดีและความชั่วทั้งหลายนั้น ความดีเรียกว่าบุญ ความชั่วเรียกว่าบาป บางครั้งอาจจะมีคนกล่าวว่า ศาสนาพุทธ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่จริง อะไรๆ ก็มีแต่เรื่องบาป พระพุทธเจ้าบัญญัติบาปหรือสร้างบาปมาไว้สำหรับลงโทษผู้กระทำผิดอกผิดใจของพระองค์ และก็สร้างบุญมาไว้เพื่อเป็นของกำนัล คือให้รางวัลแก่ผู้ทำถูกอกถูกใจ บางทีก็อาจจะมีผู้คิดและเข้าใจอย่างนั้น
และอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าสอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนี้ก็เป็นกฎความจริงอันหนึ่ง ซึ่งความดีและความชั่วทั้งหลายนั้น ความดีเรียกว่าบุญ ความชั่วเรียกว่าบาป บางครั้งอาจจะมีคนกล่าวว่า ศาสนาพุทธ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่จริง อะไรๆ ก็มีแต่เรื่องบาป พระพุทธเจ้าบัญญัติบาปหรือสร้างบาปมาไว้สำหรับลงโทษผู้กระทำผิดอกผิดใจของพระองค์ และก็สร้างบุญมาไว้เพื่อเป็นของกำนัล คือให้รางวัลแก่ผู้ทำถูกอกถูกใจ บางทีก็อาจจะมีผู้คิดและเข้าใจอย่างนั้น
แต่ความเป็นจริงนั้น คำว่าบุญกับบาป ทั้งสองอย่างนี้มันเป็นผลของกรรม กรรมที่เราทำด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ถึงพร้อมด้วยไตรทวาร คือ กาย วาจา และใจ พร้อมกันทำ ในเมื่อทำลงไปแล้ว โดยกฎธรรมชาติ จะเป็นกรรมดีก็ตาม จะเป็นกรรมชั่วก็ตาม แม้เราจะปฏิเสธว่าฉันทำเล่นๆ ฉันไม่ต้องการผลตอบแทนใดๆ แต่โดยกฎธรรมชาติแล้วเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราทำอะไรลงไปย่อมมีผลตอบแทนทุกอย่าง ไม่ว่าดีและชั่ว
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนต่อไปว่า ยัง กัมมัง กะริสสามิ กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะทายาโท ภะวิสสามิ เราจักทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน เราหลีกไม่ได้
ที่สอนดังนี้ ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนจิตใจของพุทธบริษัททั้งหลายให้มีความรู้ซึ่งเห็นจริง ตามพุทธพจน์ดังที่กล่าวแล้ว แล้วจะได้ตั้งอกตั้งใจประกอบคุณงามความดีตามหน้าที่ของตนๆ อ่านต่อ...