ในเมื่อกิเลสเกิดขึ้นแล้วจะทำให้จิตของเรามีความรู้สึกอย่างไร ถ้าความยินดีเป็นไปรุนแรงก็ทำให้ใจร้อน ความยินร้ายเป็นไปรุนแรงก็ทำให้ใจร้อน ในเมื่อเกิดใจร้อนขึ้นมา ก็ทำให้เราเห็นทุกขอริยสัจ ทุกขอริยสัจได้ปรากฏขึ้นในจิตของเราแล้ว และเราจะได้รู้ว่าความร้อนอันนี้ ถ้ามันเกิดเพราะความยินดี ราคัคคินา ไฟคือราคะ เกิดขึ้นเผาจิตใจเราแล้ว ถ้ามันร้อนเพราะโทสะ โทสัคคินา ไฟคือโทสะเกิดขึ้นเผาหัวใจของเราแล้ว ถ้ามีโมหะเข้าไปควบคุมด้วย โมหัคคินา ไฟคือโมหะ เผาหัวใจของเราแล้ว ในเมื่อใจของเราถูกไฟคือกิเลส ๓ กองเผา เราจะทำอย่างไร
ในขั้นต่อไป ทำสติกำหนดรู้ ดูทุกข์ที่เกิดขึ้นอยู่ในจิตในใจจนกระทั่งจิตของเรารู้จริงลงไป ในเมื่อเกิดความรู้จริงว่า นี่มันเป็นทุกข์จริง ๆ แล้วจิตเห็นด้วยกับความรู้นั้น เมื่อจิตยังไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง เราก็ดูมันต่อไป ดูไปจนกระทั่งทุกข์ในใจหายไปเองเพราะทุกข์นี้ ในเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็มีโอกาสที่จะดับไป ถ้าหากว่าทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วไม่มีการดับตลอดชีวิต คนเราก็ต้องอกแตกตายแล้วเราจะได้รู้จริงเห็นจริงในเรื่องของทุกข์
เมื่อจิตรู้จริงเห็นจริงแล้ว มันยอมรับสภาพความเป็นจริง เมื่อจิตยอมรับสภาพความเป็นจริงแล้ว มันจะมีความรู้สึกเสมือนหนึ่งว่า เรารู้ว่าไฟเป็นของร้อน แม้ว่าใครเขาจะคีบถ่านไฟมาวางไว้ต่อหน้าเรา เขาบอกเราว่า ดูซิ สีมันก็สวย ลองจับดูซิ มันเย้น...เย็น เมื่อเรารู้ว่าไฟมันร้อนแล้ว เรื่องอะไรเราจะไปเชื่อคำบอกของเขา แล้วเราไปหลงจับไฟ
การรู้กิเลส รู้ทุกข์ ก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อจิตรู้แล้วว่านี่ทุกข์ ทุกข์นี้เกิดเพราะเหตุอะไร ทีหลังมันก็ไม่แส่หาเรื่องที่จะให้เกิดทุกข์อีก ก็เป็นการปล่อยวางไปในตัว ในทำนองนี้ จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะ มีพลังแก่กล้าขึ้น เมื่อสติมีพลังแก่กล้าขึ้น จะเป็นสตินทรีย์ เป็นใหญ่ในอารมณ์ทั้งปวง ในเมื่อจิตเป็นสตินทรีย์ มีสตินทรีย์อยู่ในจิต จิตเพิ่มพลังขึ้น สติเพิ่มพลังขึ้น จะกลายเป็นสติวินโย ตลอดทุกลมหายใจเราจะมีสติกำกับรู้อยู่ที่จิตตลอดเวลา เมื่อเรามีสติกำกับรู้อยู่ตลอดเวลา จิตก็ไม่เที่ยวไปแส่หาเรื่อง แม้จะรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ก็สักแต่ว่ารู้ รู้แล้วก็ปล่อยวางไป ไม่สร้างกองทุกข์กองยากให้เกิดในจิตขึ้นอีกต่อไป
ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า วิธีการปฏิบัติ เมื่อเราจะเริ่มต้นปฏิบัติ ให้ท่องมนต์คือ พุทโธ เอาไว้ในใจ ถ้าจิตอยู่กับพุทโธตลอดไปก็ปล่อยให้อยู่กับพุทโธ แต่ถ้าหากว่าจิตเผลอไปคิดถึงเรื่องอื่นก็ไม่จำเป็นต้องเอามาหาพุทโธอีก ปล่อยให้เขาคิดไป เขาจะคิดเรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องบาปเรื่องบุญ เรื่องกุศลเรื่องอกุศล เรื่องโลกเรื่องธรรม จิปาถะ แม้แต่เรื่องการเรื่องงาน เรื่องการศึกษา ปล่อยให้คิดไป แต่เราอย่าลืมว่าต้องทำสติตามรู้ตลอดไป การปฏิบัติโดยทั่ว ๆ ไปก็คือ ทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด อันนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติที่ไม่มีอุปสรรคอันใด ที่ว่าไม่มีอุปสรรคอันใด เพราะเราสามารถเอางานที่เราทำมาเป็นอารมณ์ของจิตได้ เราทำอะไร เอาสิ่งนั้นมาเป็นอารมณ์ของจิต แม้ว่าเราคิดอะไร ก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นอารมณ์ของจิต คือ ทำจิตรู้อยู่กับสิ่งนั้น ทำสติระลึกอยู่กับสิ่งนั้นเป็นการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติกรรมฐาน โดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง