สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม

โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

๑) ธรรมะอันเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องรู้ของจิต

๒) ธรรมะอันเป็นกฎหรือระเบียบ เพื่อปรับปรุงกาย วาจา และใจของเราให้มีสภาพดียิ่งขึ้น

ธรรมะอันเป็นสภาวธรรมนั้น หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ นับตั้งแต่พื้นแผ่นดิน ดิน ฟ้า อากาศ สิ่งที่มีชีวิตจิตใจ และไม่มีชีวิตจิตใจ ถ้ามองเข้ามาใกล้ ๆ ตัวเรา ธรรมะอันเป็นสภาวธรรมก็คือ กายกับใจของเราเอง รวมทั้งสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่เรามีความเกี่ยวข้องอยู่ เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทรัพย์สมบัติทั้งหลายบรรดามี สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสภาวธรรม คือ เป็น อารมณ์ เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ

ส่วนธรรมะที่เป็นคำสอนหรือเป็นกฏระเบียบที่จะมากล่อมเกลา สภาวธรรม คือ กายกับใจ ให้มีสภาพดียิ่งขึ้น มีหลักใหญ่ๆ ที่จะประมวลมากล่าวอยู่ใน ๓ หลัก คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา เราก็ได้ยินได้ฟังกันมามากแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำมาอธิบาย เราเคยได้ยินคำสอนของพระพุทธเจ้าในข้อที่ว่า “พระองค์สอนให้เราละความชั่ว ประพฤติความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด” ทีนี้พื้นฐานที่เราจะยึดเป็นหลักละความชั่วนั้นคืออะไร พื้นฐานที่เราจะละความชั่ว เอาด้วยความตั้งใจ คือตั้งใจที่จะละ สำหรับคฤหัสถ์ชาวบ้านทั้งหลาย ถ้าใครจะตั้งใจละความชั่วให้ยึดหลักศีล ๕ ประการเป็นหลักปฏิบัติ เว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน การข่มเหง การรังแก การคิดอิจฉาริษยา อันนี้คือหลักของศีล ๕ และเป็นหลักแห่งการละความชั่ว ตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละความชั่ว ถ้าใครตั้งใจละความชั่วตามหลักของศีล ๕ ประการนี้ได้โดยเด็ดขาด ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นการละความชั่วตามพุทธพจน์ที่ทรงสอน จำเป็นอย่างไรที่เราจึงต้องละความชั่วทั้ง ๕ ประการ เพราะความชั่วทั้ง ๕ ประการ นอกจากจะเป็นการละความชั่วแล้ว ยังเป็นการปรับพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ มนุษย์ที่มีความสมบูรณ์โดยคุณธรรม จะต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์สะอาด ในเมื่อพูดมาถึงตรงนี้ ท่านผู้ฟังอาจมีความหนักใจ เวลาที่เราอยู่ในสังคม บางสิ่งบางอย่างเราจะต้องจำเป็นละเมิดกฎของศีล ๕ ประการ พระท่านมาสอนให้เราถือศีล ๕ รักษาศีล ๕ และให้ละความชั่วตามกฎของศีล ๕ ย่อมเป็นการหนักใจ ในปัญหาข้อนี้ ถ้าหากว่าใครไม่สามารถที่จะละความชั่วตามกฎของศีล ๕ กว้างขวางไปจนกระทั่งถึงสัตว์เดรัจฉานด้วย ขอให้เราตั้งปณิธานเอาไว้เพียงแค่ว่า “ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ฉันจะไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแก และไม่คิดอิจฉาบังเบียด” เอากันเพียงแค่นี้ ศีล ๕ ก็เป็นหลักธรรมประกันความปลอดภัยของสังคม ทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าใครจะมีความมุ่งหมายที่จะประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน เราจะต้องทำศีล ๕ ให้บริสุทธิ์สะอาด แม้ในวงการของสัตว์เดรัจฉานสิ่งที่มีชีวิต มีร่างกายทั้งปวง เราจะไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแก โดยที่สุดแม้แต่ไข่มดดำ มดแดง เรางดเว้นโดยเด็ดขาด อันนี้เป็นศีล ๕ ในระดับของผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน อันนี้คือการทำ คือการละความชั่วตามพุทธพจน์

ทีนี้เพื่อให้ความดีหรือเจตนาที่จะละความชั่วให้มีหลักฐานมั่นคงลงไป พระองค์จึงสอนให้เราบำเพ็ญ สมาธิ จำเป็นด้วยหรือที่เราต้องบำเพ็ญสมาธิ หรือฝึกสมาธิ ถ้าใครมีความข้องใจ สงสัยว่าจำเป็นด้วยหรือที่เราต้องทำสมาธิ คำตอบก็คือว่า เราได้ทำสมาธิมาแล้ว ทำสมาธิมาแล้วโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจว่าเราจะฝึกสมาธิ ท่านผู้ฟังลองคิดดูซิว่า ถ้าหากท่านไม่มีสมาธิ เรียนจบปริญญามาได้อย่างไร เมื่อไม่มีสมาธิทำงานใหญ่โตสำเร็จได้อย่างไร สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่อาศัยพลังของสมาธิทั้งนั้น เพื่อจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ท่านมองเห็นได้ชัดเจน ในขณะใดที่ท่านใช้ความคิดหนัก ท่านมีจิตใจจดจ่ออยู่กับความคิดหรือในสิ่งที่ท่านคิด เมื่อท่านคิดด้วยความตั้งใจอย่างจริงจัง ในบางครั้งเผลอๆ จิตของท่านมีอาการเคลิ้มลงไป แล้วสิ่งที่ท่านคิดนั้นผุดขึ้นมาเป็นคำตอบตามที่ท่านต้องการ เคยมีบ้างไหม ถ้าหากว่าใครเคยมีบ้างแล้ว ได้ชื่อว่าผู้นั้นเคยใช้สมาธิให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันมาแล้ว อันนี้คือเหตุผลที่เราทุกคนจะต้องทำสมาธิ

การทำสมาธิไม่เฉพาะจะมีในหลักพระพุทธศาสนาเท่านั้น ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติเกิดขึ้นในโลก พวกฤาษีชีไพรเขาทำสมาธิกันมาอย่างโชกโชน แม้แต่พระพุทธเจ้าของเราเมื่อเสด็จออกทรงผนวช ทีแรกก็ยังได้ไปศึกษาและเรียนสมาธิในสำนักของอุทกดาบส อาฬารดาบส จนกระทั่งเรียนจบหลักสูตรของท่านทั้งสอง แล้วทำสมาธิได้อย่างดีวิเศษดียิ่งกว่าอาจารย์เสียอีก จนกระทั่งอาจารย์เกิดความเชื่อมั่นในสมรรถภาพของพระพุทธองค์ แล้วอาราธนาท่านให้อยู่เป็นอาจารย์สอนในสำนักนั้นต่อไป โดยวิสัยของผู้ที่บำเพ็ญบารมีเพื่อความสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ย่อมมีพระสติปัญญา พระปรีชาเฉลียวฉลาดเฉียบแหลม พระองค์จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ในเมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิตั้งแต่ฌานชั้นที่ ๑ จนถึงฌานชั้นที่ ๘ เรียกว่าได้สมาบัติ ๘ ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิในฌานในสมาบัติ ความรู้สึกภายในจิตก็ไม่มีกิเลสและอารมณ์ เพราะพวกพราหมณ์ทั้งหลาย พวกฤาษีทั้งหลายในสมัยนั้น สติปัญญาของเขายังอ่อน เมื่อเขาทำสมาธิจนสำเร็จฌานสมาบัติ เขาจึงถือว่าเขาสำเร็จพระนิพพานแล้ว แต่วิสัยของพุทธภูมิไม่เป็นเช่นนั้น โดยที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงพิจารณาว่า เมื่อเราทำจิตให้สงบละเอียดจนรู้สึกว่าไม่มีกิเลสและอารมณ์ ก็ดูเหมือนว่าไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มีแต่ความสบายอย่างเดียว แต่เมื่อจิตถอนออกมาจากฌานมาสัมผัสรู้ว่ามีกาย ความยินดียินร้ายในอารมณ์ที่ได้พบเห็นด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังมีอยู่เช่นเคย พระองค์ได้สันนิษฐานว่าพระองค์ยังไม่สำเร็จพระพุทธเจ้า จำเป็นเราจะต้องแสวงหาวิธีการที่จะบำเพ็ญตนให้ได้ตรัสรู้ต่อไปอีก ศาสดาจารย์ผู้สอนสมาธิภาวนาในสมัยนั้นที่มีภูมิความรู้อย่างสูงสุดก็คือ อาฬารดาบสและอุทกดาบส ในเมื่อพระองค์พิจารณาและมองหาอาจารย์ที่จะเป็นผู้พร่ำสอนพระองค์ต่อไปไม่มีเหลืออีกแล้ว ดังนั้นพระองค์จึงตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะทรงแสวงหาหนทางตรัสรู้โดยลำพังพระองค์เอง เมื่อพระองค์ทรงแสวงหาการตรัสรู้โดยลำพังพระองค์เอง ซึ่งไม่มีใครชี้แนะแนวทาง แต่อาศัยการทดสอบจิตและอารมณ์ของตนเองโดยลำพังพระองค์เอง พระองค์ก็ได้รู้แนวทางที่จะปฏิบัติเพื่อให้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หลักการที่พระองค์ทรงยึดเป็นหลักปฏิบัติก็คือว่า ทำ “จิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก” พระองค์ทำลมอานาปานสติให้เป็นสิ่งรู้ของจิต แล้วเอาสติไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ ทำให้พระองค์รู้ธรรมะของจริงปรากฏขึ้นว่า “สิ่งที่มีร่างกายและชีวิตนี้ ความเป็นอยู่อยู่ที่ลมหายใจ ถ้าลมหายใจอันนี้ เข้าไปแล้วไม่ออกมาต้องตาย เมื่อออกไปแล้วไม่กลับเข้ามาอีกก็ต้องตาย” พระองค์จึงทรงทำพระสติรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทำให้พระองค์ต้องรู้ความหยาบความละเอียดของลมหายใจ และรู้ความเปลี่ยนแปลงของลมหายใจ ในขณะใดที่พระองค์ไม่ได้ดูลมหายใจ พระองค์ก็กำหนดดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตของพระองค์ สิ่งใดเกิดขึ้นพระองค์ก็รู้ รู้ด้วยวิธีการทำสติกำหนดจิต กำหนดคอยรู้ คอยจ้องดูอารมณ์ที่เกิดดับกับจิต ในเมื่อสติสัมปชัญญะของพระองค์มีความเข้มแข็งขึ้น สามารถที่จะประคับประคองจิตใจให้มีความรู้ซึ้งเห็นจริงในความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ในสภาวะที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อรู้ว่าอารมณ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อารมณ์อันใดที่จิตของพระองค์ยังยึดถืออยู่ เมื่ออารมณ์สิ่งนั้นเกิดขึ้นก็มายุแหย่ให้จิตของพระองค์เกิดความยินดีเกิดความยินร้าย ความทุกข์ก็ปรากฏขึ้นภายในจิต ทุกข์ที่ปรากฏขึ้นภายในจิตของพระองค์ พระองค์ก็กำหนดว่านี่คือทุกข์อริยสัจ เป็นทุกข์จริงๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อรู้ว่าเป็นทุกข์จริงๆ พระองค์ก็สาวหาสาเหตุทุกข์ที่มันเกิดมาจากเหตุอะไร ทุกข์อันนี้มันเกิดมาจากตัณหา ตัณหาเกิดมาจากไหน เกิดมาจากความยินดีและความยินร้าย อ่านต่อ...