เพราะฉะนั้น เรื่องการทำสมาธิภาวนานี่ ถ้ามันลำบากนัก เอาอย่างนี้ดีไหม ท่านทั้งหลายก็ต่างคนต่างมีธุรกิจ มีภาระที่จะต้องทำด้วยกันทั้งนั้น เรามาช่วยกันคิดหาวิธีการที่จะทำสมาธิให้มันสัมพันธ์กับเรื่องงาน คือการงานก็ไม่ได้ขัดกับการทำสมาธิ สมาธิก็ไม่ให้ขัดกับงาน เราพอมีทางที่จะทำได้ไหม เอาล่ะ ที่นั่งฟังเทศน์อยู่นี้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนชั้นปัญญาชน พ่วงปริญญามาแล้วทั้งนั้น เราเลิกให้เด็ก ป.๔ มาโกหกเราเสียทีเถอะ เอ้า! ว่ากันอย่างนี้แหละ เรามาคิดหาวิธีการที่จะทำสมาธิโดยที่ไม่ต้องไปเกี่ยงเวลากัน เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนี้ จะนั่งสมาธิก็เสียดาย ถึงเวลาทำงานแล้ว จะไปทำงานก็เสียดายเวลานั่งสมาธิ ขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ ทำไมจึงขัดแย้งกัน เพราะเราไปให้มันเกิดขัดแย้งกัน แต่ถ้าเราคิดว่างานคืออารมณ์จิตสำหรับทำสมาธิ สำหรับเรานี่มีทางไหม ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ที่เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ได้เพราะอะไร เพราะเรามีใจ ใจเป็นผู้สั่งการ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฎฺฐา มโน มยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นผู้ถึงก่อน มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จแล้วแต่ใจ
ทีนี้เรามาดูกันที่ใจ ใจตัวเป็นนายนี่ เราจะปราบข้าศึก เราต้องพยายามจับตัวหัวหน้า ทำลายหัวหน้าให้จงได้ ถ้าทำลายหัวหน้าจับหัวหน้าอยู่มือแล้ว อื่นๆ ก็ไม่สำคัญ ฉะนั้น เราต้องพยายามจับที่ใจ ใจไปอยู่ที่ไหนบ้าง มันไปอยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เอาสติไปคอยจับมันอย่างเดียว เดินรู้ ยืนรู้ นอนรู้ นั่งรู้ รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด รู้ เอาสติรู้ตัวเดียวไปทำงาน เวลาเดินก็นึกว่าเราเดินจงกรม มีสติรู้พร้อมอยู่ที่การเดิน นั่งทำงานก็นึกว่าเรานั่งสมาธิ ถ้าคิดงานก็คิดว่าเรากำลังพิจารณาวิปัสสนากรรมฐาน เราทำอะไร นึกว่าเรากำลังปฏิบัติสมาธิทั้งนั้น เวลาเรานอนก็นอนทำสมาธิ สำคัญเวลานอน นอนแล้วเรามีความคิด คิดก็ปล่อยให้มันคิดเรื่อยไป ให้มีสติตามรู้ไปจนกว่าจะนอนหลับ ฝึกอย่างนี้ทุกวันๆ แล้วเราจะได้สมาธิในขณะที่นอน ถ้าเราใช้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์ในการทำสมาธิ เป็นอารมณ์ฝึกสมาธิ เราจะไม่มีความรู้สึกว่าการทำงานกับการทำสมาธิมันเป็นเรื่องขัดกัน แต่ส่วนใหญ่เราจะได้รับการอบรมสั่งสอนมาว่า จะทำสมาธิต้องโกนหัวไปบวช ต้องไปบวชชีพราหมณ์ บวชเป็นพระเป็นเณร ต้องเข้าป่าไปหาที่วิเวก จึงจะทำสมาธิได้ อันนั้น สาธุ ไม่ใช่ว่าไปตำหนิท่านทำของท่านก็ถูกต้อง แต่นี่เราจะมาพูดถึงว่า อย่างเราๆ นี่มันไปอย่างนั้นไม่ได้ เอ้า ขืนลาไปซิ ๗ วัน ๑๕ วันต่อเดือน เราเป็นข้าราชการนี่ ขืนลาทุกเดือนประเดี๋ยวโดนไล่ออก นี่ มันเป็นอย่างนี้ เมื่อมันเป็นภาวะจำยอมที่เราต้องอยู่กับงานตลอดเวลานี่ เรามาช่วยกันค้นคิดหาวิธีทำสมาธิในขณะที่ทำงานนี่แหละ โดยไม่ต้องให้เสียงาน งานก็ไม่ให้เสีย สมาธิก็ไม่ให้ขาด โดยเอางานในปัจจุบันเป็นอารมณ์จิต ด้วยการฝึกจิตให้มีสติอยู่กับงานอย่างเดียวเท่านั้น
เข้าใจไหมที่พูดอย่างนี้ ทำอะไรก็ให้มีสติ เลี้ยงลูกก็ให้มีสติ อาบน้ำให้ลูกก็ให้มีสติ แล้วก็พิจารณาเรื่อยไป ประเดี๋ยวคนที่แก่วิธีการ แก่ตำราจะมาตำหนิว่า หลวงตานี่มาสอนสมาธิแหวกแนว แบบที่ใครๆ เขาไม่สอนกัน นี่คือการปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐาน การทำสติ ทำสัมปชัญญะ สัมปชัญญะปัพพะ ฝึกให้มีสติรู้อยู่ที่การยืน เดิน นั่ง นอน ให้รู้ว่า การเดินไป การถอยกลับ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ให้มีสติกำหนดตามรู้ตลอดเวลา แล้วมันจะมีผิดอย่างไร
อันนี้ขอฝากท่านผู้สนใจในการฝึกสมาธิทั้งหลายให้พยายามค้นหาวิธีการที่เราจะทำสมาธิให้สัมพันธ์กันกับเรื่องชีวิตประจำวัน โดยเอางานของเรานี้เป็นอารมณ์จิตในการภาวนา ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติรู้พร้อมอยู่ที่จิตตลอดเวลา แม้ว่าเราจะไม่ไปกำหนดระยะที่เรายืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ อะไรก็ตาม กำหนดรู้ที่จิตเท่านั้น ในเมื่อกายกับจิตยังมีความสัมพันธ์กันอยู่แยกไม่ออก แม้ว่ากายจะเป็นไปอย่างไร จิตสามารถที่จะรู้เรื่องของกาย กายมีความสุข จิตก็รู้ ยืนก็รู้ นอนก็รู้ นั่งก็รู้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจิตเป็นผู้สั่งทั้งนั้น เมื่อเรามากำหนดรู้จิตของเราด้วยความมีสติ เราจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่กาย รู้โดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะรู้ เช่นอย่างถ้านั่งอยู่ดีๆ เวลายุงมาเกาะปั๊บ รู้ทันที เคยตั้งใจมาก่อนไหมว่ายุงจะมาเกาะ ไม่มีใครเคยตั้งใจ แต่ว่ามีอะไรมาสัมผัสปั๊บ รู้ทันที ในเมื่อรู้แล้วก็มีสติสำทับรู้กับสิ่งนั้น ๆ ให้มันชัดเจนลงไป ฝึกสติอย่างเดียวเท่านั้น
ฉะนั้น อันนี้ขอฝากท่านผู้สนใจในการปฏิบัติทั้งหลาย ได้พยายามสนใจ การเดินก็เป็นธรรม ยืนก็เป็นธรรม นั่งก็เป็นธรรม นอนก็เป็นธรรม รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ก็เป็นธรรม เพราะเป็นอารมณ์ที่สำเร็จมาโดยความตั้งใจของจิต เดินได้จิตสั่ง นั่งได้จิตสั่ง นอนได้จิตสั่ง สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสภาวธรรม เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นกับใจ
ทีนี้ในกายของเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เข้ามาทางตาหู จมูก ลิ้น กาย และใจ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด นี่จึงเป็นเรื่องของกายกับใจ เมื่อเป็นเรื่องของกายกับใจ สิ่งนี้ก็เป็นสภาวธรรม สภาวธรรมนี่ เมื่อเรากำหนดรู้อยู่ตลอดเวลา รู้ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นธรรมที่ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียงเพ่งอยู่ เมื่อธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ พราหมณ์นั้นย่อมเข้าใจในธรรมตามความเป็นจริง ย่อมรู้จริงแจ้งประจักษ์ในธรรมนั้น คือรู้อย่างไร รู้ว่ายืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อมีสติปัญญาแล้ว มันจะเกิดรู้ขึ้นมาเอง
นอกจากนั้น ในขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด มันเกิดขัดข้องขึ้นมา มันเกิดทุกข์ใจขึ้นมา เมื่อมีสติสัมปชัญญะรู้อยู่ ก็จะรู้ทุกขอริยสัจทันที เราเกิดทุกข์ใจ อย่างเขาด่ามา เราไม่ชอบใจ เกิดทุกข์ใจขึ้นมาเพราะถูกด่า อันนั้นมันก็เป็นทุกขอริยสัจ ทำอะไร คิดอะไรไม่สมหวัง ผิดพลาดอะไรต่างๆ มันเกิดทุกข์ใจ นั่นคือทุกขอริยสัจ ส่วนความเจ็บปวด ความเจ็บป่วยนี่ เป็นทุกขลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ถ้าใจไปทุกข์เพราะสาเหตุที่ความเจ็บป่วยนั้น ก็กลายเป็นทุกขอริยสัจ ฉะนั้น เมื่อเรามีอารมณ์จิตรู้อยู่ แล้วก็มีสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ในเรื่องปัจจุบัน เราสามารถที่จะรู้ธรรม เห็นธรรมขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้น ขอให้ญาติโยมทั้งหลายจงพยายามค้นหาวิธีทำสมาธิให้สัมพันธ์กับเรื่องชีวิตประจำวัน ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้ฝึกสติรู้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ตลอดกาล เมื่อเราฝึกคล่องตัว ชำนิชำนาญแล้ว แม้เราจะไม่ได้ตั้งใจ พอขยับปั๊บ สติจะตามรู้ของมันอย่างชัดเจน เมื่อสติตามรู้อยู่อย่างนั้น เวลาเราไปนอนหรือบางทีสมาธิมันจะเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะเราฝึกอยู่ตลอดเวลา สมาธิก็เกิดขึ้นตลอดเวลา มันเกิดขึ้นทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ อันนี้ ถ้าทำได้เป็นวิธีการที่ดีวิเศษที่สุด ทีนี้ ความรู้ที่จะเกิดขึ้น ไม่ต้องไปกังวลว่าจะเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเมืองนิพพาน ขอให้เห็นหัวใจตัวเองก่อน คนภาวนาไม่เห็นหัวใจ มันถึงสวรรค์นิพพานไม่ได้หรอก ต้องดูใจของตัวเองให้รู้ก่อน ว่าใจเราดำ ใจเราขาว ใจเรามีกิเลส โลภ โกรธ หลง ใจมีราคะ โทสะ โมหะ ต้องดูกันที่ตรงนี้ก่อน ที่เรามากำหนดดูการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ เป็นการฝึกสติปัญญาให้สามารถรู้ความจริงของตัวเอง เมื่อรู้อยู่ที่กายก็รู้ว่ากายมีสุขหรือมีทุกข์ รู้อยู่ที่ใจก็รู้ว่าใจมีสุขหรือมีทุกข์ มันก็รู้ความจริงขึ้นมาทีละอย่างสองอย่าง