เรียนกรรมฐานเพื่ออะไร ตอน 4

ความกลัวนั้นแลเป็นภัย เพราะความกลัวเป็นสาเหตุที่ผลักดันออกมาจากกิเลสโดยตรง จึงบีบคั้นจิตใจให้ได้รับความทุกข์ลำบาก เมื่อพิจารณาว่าความกลัวเป็นตัวภัย ซึ่งเกิดจากจิตใจ ไม่ใช่ผีเป็นภัย ใจก็ไม่กลัว ความรู้ชัดว่า จิต ผู้กลัวเสียเอง เป็นภัยแก่ตัวเองเมื่อรู้ภัยคือตัวเสียเองแล้ว ก็จะไม่เที่ยวกลัวลมกลัวแล้งที่ไหน ให้เป็นบ้าเพิ่มขึ้นอีก การเยี่ยมป่าช้านอกก็หมดปัญหาไปเองเพราะรู้ป่าช้าที่อยู่กับตัวแล้ว

การไปเยี่ยมป่าช้าทุกวัน มีอะไรนะที่ป่าช้านั้น? ก็มีคนตายเก่าตายใหม่เกลื่อนอยู่ที่นั่น ทั้งหญิง ทั้งชายทั้งเด็ก ทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่มีมาก เพศและวัยด้วย ซึ่งเป็นจำพวกที่หมดความหมายในร่างกายแล้วทั้งสิ้น

เวลาไปเยี่ยมป่าช้า ใจมีความหมายอย่างไรบ้าง? ในการเยี่ยม ถ้าใจเป็นไปด้วยความเกลียด ความรังเกียจ ความเบื่อหน่ายเกลียดชังแบบโลกๆ ก็ย่อมผิดทางของการเยี่ยมป่าช้า ที่ถูกต้องพิจารณาปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งคนตายที่อยู่ในป่าช้า ทั้งพิจารณาให้เห็นเป็นอย่างนี้ไปทั่วโลกแดนดิน ว่าไม่มีรายใดจะฝืนความเป็นอย่างนี้ไปได้ ทั้งเขาทั้งเรามีสภาพเป็นอย่างนี้ด้วยกันเมื่อถึงคราวแล้ว พิจารณาแล้ว พิจารณาเล่าซ้ำๆ ซากๆ กลับไปกลับมาหลายตลบทบทวน เพื่อจิตได้เกิดความสลดสังเวชในความจริงนั้น เกิดความชำนิชำนาญ และคล่องแคล่วแก่กล้าขึ้นมาโดยลำดับๆ อุปาทาน แม้จะเคยฝังลึกถึงขั้วหัวใจก็ต้องหมดไป หมดไป

ค่าว่า “อุปาทาน” คือ ความยึดมั่น ถือมั่น ในขันธ์ว่าเป็นตน เที่ยวยึดนั่น ยึดนี่ไม่เป็นตัวของตัวโดยอิสระเสรี จิตไปเที่ยวอาศัยอยู่ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ราวกับคนบ้านแตกสาแหรกขาด ไม่มีบ้านเรือนเป็นของตน ไปเที่ยวขออาศัยเขาอยู่เป็นวันๆ ลำพังตัวเองไม่มีอำนาจไม่มีวาสนา ไม่มีหลักมีเกณฑ์ ต้องอาศัยสิ่งเหล่านั้นมาเป็นอำนาจ วาสนา มาเป็นตัวของตัว จึงเกิดความเดือดร้อนอยู่มิวาย เพราะความคิดผิดยึดผิด

เมื่อพิจารณาแยกแยะหลายครั้งหลายหน จนเห็นตามความจริงโดยลำดับ ใจก็พอทรงตัวไว้ได้ แม้ยังรู้และปล่อยวางไม่ได้โดยสิ้นเชิง เมื่อสติปัญญามีกำลังพอตัวย่อมรู้ตลอดทั่วถึง ไม่ต้องอาศัยพึ่งพิงเขาด้วยอำนาจของอุปาทานอีก เราก็เป็นตัวของเรา ขึ้นมา ใจก็อยู่ด้วยความสงบร่มเย็นในขั้นเริ่มแรก และขั้นกลาง และมีความเกษมสำราญ ในขั้นปล่อยวางอุปาทานได้โดยสิ้นเชิง

ท่านสอนกรรมฐาน ท่านสอนอย่างนี้ให้พิจารณาอย่างนี้ พิจารณามาก ยิ่งพิจารณามาก จิตยิ่งมีความกระจ่างแจ้งไปโดยลำดับ ทะลุปรุโปร่งไปทั้งภายนอกภายใน เป็นความสง่าผ่าเผย องอาจกล้าหาญ ไม่สะทกสะท้านกับอารมณ์ต่างๆ ที่เคยเป็นภัยต่อใจเวลาใจชำนาญจริงๆ ในด้านความจริงเกี่ยวกับการพิจารณาร่างกาย เพียงกำหนดปั๊บปัญญาจะทะลุไปทันทีทันใดไม่ว่าร่างกายของสัตว์ ของบุคคลภายนอก เมื่อสติปัญญามีความชำนิชำนาญแล้ว กำหนดสิ่งใด ร่างใด จะพุ่งทะลุไปอย่างรวดเร็ว

พอตามองเห็นสัตว์เห็นบุคคล แต่สติปัญญาจะไม่มองเห็นธรรมดาของสัตว์ของบุคคลตามที่เป็นอยู่นั้นเลย แต่จะมองเห็นแบบกรรมฐาน แบบที่ตนเคยพิจารณามาแล้วอย่างไรนั่นแล ไม่มองแบบธรรมดาที่เคยมองเคยรู้ แต่จะมองเป็นปัญญาภาคกรรมฐานไปทีเดียว พอกำหนดปั๊บ ปัญญาจะพุ่งเข้าถึงจุดที่ตนเคยพิจารณามาแล้วอย่างไร นี่คือความชำนาญในการปฎิบัติธรรมจากกรรมฐานห้า

เราเขียนหนังสือ ทีแรกเขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนใหม่ ไม่เป็นตนเป็นตัว พออ่านออกบ้าง อ่านแล้วลืมบ้างลืมแล้วอ่าน เขียนแล้วลืม ลืมแล้วเขียนใหม่อยู่อย่างนั้นเขียนไปเขียนมาหลายครั้งหลายหนซ้ำๆ ซากๆ ก็เริ่มเป็นตนเป็นตัว อ่านออกเขียนได้เป็นลำดับๆ ต่อไปหลับตาเขียนก็ได้เพราะความชำนาญ แต่เวลาจะอ่านจะต้องลืมตาแม้จะชำนาญเพียงไร มันผิดกันตรงนี้แหละ ชำนาญขนาดไหนก็ตาม การอ่านหนังสือต้องลืมตาไม่ลืมตา ไม่เห็น ผิดกับเสียง

การพิจารณากรรมฐานส่วนต่างๆ ทางด้านปัญญาเมื่อชำนาญแล้ว หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น เพราะใจและปัญญาเป็นผู้รู้ เป็นผู้เห็นต่างหาก นี่ท่านเรียกว่า “งานกรรมฐาน คืองานรื้อโลก รื้อสงสาร รื้อภพ รื้อชาติ รื้อกิเลส ตัณหา รื้อด้วยการพิจารณาทางสติปัญญาเพราะฉะนั้น กรรมฐาน มีกรรมฐาน ๕ เป็นต้น จึงจำเป็นมากเวลาพระท่านบวช ต้องได้มอบกรรมฐานห้านี้เป็นอาวุธสำคัญ ฟาดฟันกิเลสตัณหาอาสวะ ความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดต่างๆ ก่อนว่าสวย ว่างาม ว่าเป็นนิจจังคือ ความเที่ยงแท้ถาวร เป็นสุข เป็นอัตตา สติปัญญาทำลายกองสมมติที่หนาแน่นเหล่านี้ให้แตกกระจายไปจากจิตใจ จิตใจจะได้เป็นตัวของตัว เพราะเห็นถูกต้องตามหลักธรรม จะไม่ยึดสิ่งนั้น พึ่งสิ่งนี้ ซึ่งเป็นของปลอมว่าเป็นตัวขึ้นมา แล้วตัวก็กลายเป็นพวกจอมปลอมไปด้วยสิ่งเหล่านั้น หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ ท่านสอนนี้ สอนเพื่อให้ใจได้หลักได้เกณฑ์ คือ รู้เห็นตามความเป็นจริง

ผู้ปฏิบัติธรรมแบบนี้ย่อมเย็น อยู่ที่ไหนก็เย็น อุบายต่างๆ ผุดขึ้นทุกวันและรู้เท่าทัน อะไรมาสัมผัสสัมพันธ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้อารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในใจก็รู้ทันเมื่อสติปัญญาอยู่กับตัวอยู่แล้ว อะไรๆ ผ่านก็รู้ทันทั้งนั้น แต่ก่อนนั้นไม่ทันคิดเสียจนร้อนเป็นฟืนเป็นไฟก็ยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร กิเลสมาเอาเครื่องในไปกินหมด

ยังเหลือแต่หนังห่อกระดูก ก็ยังไม่ทราบว่าอะไรหายไป เพราะสติไม่ทัน ปัญญาไม่มี ถ้าปลุกอยู่เรื่อยๆ ด้วยความเพียร สติก็มี สติก็แก่กล้า ปัญญาก็สามารถ อะไรมาสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือปรุงขึ้นภายในจิตใจ จึงเหมือนปลุกสติปัญญาขึ้นพร้อมในขณะเดียวกัน ทั้งพิจารณาอย่างรวดเร็ว และปล่อยวางได้อย่างทันอกทันใจ นี่คือความ แคล่วคล่องว่องไวของสติปัญญาที่ท่านนักปฏิบัติเคยดำเนินมา เป็นสติปัญญาที่เกรียงไกรทันสมัยกับกิเลสประเภทดาวเทียม

สติปัญญานั้นแลเป็นเครื่องมือสังหารกิเลส ที่ก่อตั้งขึ้นมาเป็นภพ เป็นชาติ ออกแม่แพร่ลูก แพร่หลานขึ้นมาตั้งบ้านเรือนอยู่ภายในใจสัตว์โลก

เราต้องเรียนและปฏิบัติธรรม เพื่อตั้งเป็นกองทัพขึ้นต้านทานต่อสู้รบรันอย่างสะบั้นหั่นแหลกกัน จนกองทัพกิเลส ตลอดลูกหลาน ปู่ย่าตายายของมันถูกทำลายลงไปหมด ไม่ให้มีอะไรมีอะไรเหลืออยู่ภายในจิตใจ นั่นแลภพชาติก็หมดไปเอง ความสุขชนิดอัศจรรย์เหนือโลกไม่ต้องไปเรียกร้องหาที่ไหน เมื่อกิเลสตัวก่อเหตุให้เกิดความทุกข์ความทรมานสลายตัวลงไปมากน้อย ความสุขก็เกิดขึ้นมา กิเลสสลายตัวไปหมด ความสุขก็ปรากฏเต็มภูมิภายในจิต เท่าที่จิตไม่มีความสุขก็เพราะกิเลสมาแย่งเอาไปกินหมดขนทุกข์มาให้เรารับเสวย พอฆ่ากิเลสตายหมดแล้ว ความสุขก็แสดงขึ้นมาอย่างเต็มภูมิท่านเรียกว่า “ปรมังสุขัง” อะไรเป็น “ปรมังสุขัง?” ก็คือ จิตดวงสิ้นกิเลสอย่างหมดจดงดงามนี่แหละเป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรจะสุขยิ่งกว่าจิตที่บริสุทธิ์ เพราะไม่มีอะไรมาแบ่งสันปันส่วนเอาไปกินไปครองใจเป็นธรรมล้วนๆ

“ธัมโม ปทีโป” ก็หมายถึงความสว่างไสวแห่งธรรมในจิต จิตในธรรมนั่นเอง จิตนี้รู้อยู่กับตัว จิตประเภทนี้แล เป็นจิตที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น ถ้าเป็นน้ำนิ่งก็ใสสะอาด รสชาติก็กลมกล่อมจืดสนิท ไม่มีที่ต้องติ ไม่ได้เป็น “สภายุง” ให้ยุ่งอีกต่อไป ที่เคยพูดว่าถ้าเป็นด้านวัตถุ ก็ยกออกไปแข่งกับสามโลกธาตุนี้ได้ อย่างกระหยิ่มยิ้มย่องคล่องใจ ไม่มีโลกใดจะมาแย่งชัยชนะไปได้ ไม่มีคำว่า “แพ้” นอกจากทั้งสามโลกจะยอมกราบไหว้อย่างสนิทใจ เพราะเห็นได้ชัดด้วยตาเนื้อว่า “อ้อ! ธรรมแท้เป็นอย่างนี้” และหูก็ฟังชัดว่า “ธรรมท่านได้ประกาศคุณภาพแห่งความจริงออกมาอย่างนี้!” พร้อมกับตาก็เห็นธรรมอันอัศจรรย์นั้นด้วย หูก็ได้ยินธรรมแสดงกังวานออกมาด้วย

“เฮ้อ! จะว่าอย่างไรล่ะ? แล้วใครซึ่งต้องการความสุข ความเจริญ ต้องการความดี ต้องการของวิเศษจะปฏิเสธได้?” ไม่มีในโลกนี้ไม่มีแน่!

แต่ธรรมแท้ไม่เป็นอย่างนั้น ประกาศอย่างนั้น แสดงตัวอย่างนั้น โลกจึงไม่อาจมองเห็นได้ ฉะนั้นจึงต้องทำ “กรรมดำ กรรมขาว” ไปด้วยความไม่รู้ เช่นเดียวกับเราๆ ท่านๆ ทั่วโลกทั่วสงสาร จะตำหนิก็ตำหนิไม่ลง

ใครแม้ต้องการความสุข ความวิเศษวิโสด้วยกันแต่เมื่อนิสัยไม่สามารถอาจรู้เห็นได้ก็จำเป็นต้องงมไปเป็นธรรมดา เมื่อผู้ปฏิบัติไป รู้ไปเห็นไป ก็ทราบเฉพาะตัว ใครไม่รู้ แต่ตัวเองก็รู้อยู่กับตัวโดยเฉพาะประกาศให้คนอื่นเห็น แสดงให้คนอื่นเห็นไม่ได้ แต่ธรรมอัศจรรย์นั้นก็แสดงอยู่กับตัวตลอดเวลา “อกาลิโก” นี่แหละ ท่านว่าธรรมแท้รู้อยู่กับหัวใจนี่แหละ! อยู่กับผู้รู้นี้ ไม่อยู่ในที่ไหนๆ จงกำหนดลงไปในจิตนี้ อันใดที่มาเกี่ยวข้องพัวพันกับธรรมชาตินี้ ที่ทำให้มัวหมองไป ให้พยายามแก้ไข ให้พยายามปัดเป่า แยกแยะกันด้วยสติปัญญาอย่าท้อถอย นี่แหละ “ธรรมสาระ คือ ใจ” ยอดแห่งธรรมคือ ใจ ยอดแห่งความไว้วางใจ ก็คือใจที่บริสุทธิ์จากสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลายแล้ว

ศาสนาท่านสอนลงที่กายวาจาใจนี้ และใจนี้แหละคือ ภาชนะอย่างเอก เหมาะสม อย่างยิ่งกับธรรม ไม่มีภาชนะใดที่จะเหมาะสมกับธรรมยิ่งกว่าใจ “มโน ปุพพังคมา ธัมมา มโน เสฏฐา มโน มายา” ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยใจ ลงที่นี่ ธรรมก็ไหลลงที่ใจที่อื่นไม่มี ปล่อยวางที่ใจแล้วบริสุทธิ์ที่ใจแล้ว หมดปัญหาทั้งมวลในสมมติทั้งสามโลกธาตุ