เรียนกรรมฐานเพื่ออะไร ตอน 2

มนุษย์ที่เกิดความเดือดร้อนอยู่ทุกวันเวลา หรือแต่ไหนแต่ไรมาก็เพราะเหตุนี้เป็นส่วนใหญ่ที่พาให้เป็นรวมแล้วก็เรื่องของกิเลส สิ่งสกปรกเป็นแนวหน้าพาให้ทำไม่ใช่เรื่องอื่นใด

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจำต้องแยกระหว่าง ธรรม กับ กิเลส ออกเทียบเคียงคุณค่าสารคุณ เพื่อถือเอาประโยชน์และชำระโทษตามความจริง จะเป็นอย่างไรก็ต้องแยกละ ถ้าอยากเป็นมนุษย์ผู้ดีมีความสุขความสมหวัง

สมมติว่า “จิต” เป็นสภายุง เราก็พยายามแยกแยะจิตของเรา เฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง ขันธ์ กับ จิต ที่เกิดความทุกข์ความลำบากในที่ใดจุดใด แต่ก่อนที่ไม่เคยพิจารณาขณะเป็นทุกข์ ไม่สบายกาย แต่ใจมักเกิดความเดือดร้อนขึ้นภายในเสมอ ทั้งที่ใจไม่ได้เป็นไข้เลย ที่ใจเป็นทุกข์ด้วยนั้น ก็เพราะปกติไม่อยากให้เกิด ไม่อยากให้มี ไม่อยากให้เป็น แม้เป็นขึ้นก็อยากให้หาย ความอยากทั้งนี้ มันเป็นเรื่องของ “ตัณหา” คือความบกพร่องต้องการทำให้ใจหิวโหย ทำความอยาก ความปรารถนาอยู่ตลอดเวลา ถ้าอยากในทางผิดมากเพียงไร ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความทุกข์มากขึ้น และผลที่เกิดขึ้นจากความหิวโหย ก็คือ ความทุกข์นั่นเอง

ผู้ปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรปรารถนาอย่างนั้นโดยปราศจากเหตุผล จะแก้ไขอย่างไร?ด้วยหยูกด้วยยาหรืออรรถด้วยธรรม? ก็พิจารณาไปตามเหตุตามผลนั้นควรจะฉีดยาก็ฉีด ควรจะรับประทานยาก็รับประทาน ควรอย่างไรก็ทำไปตามเหตุผลที่ควร ระวังทางภายในคือ ใจ อย่าให้ไปยุ่งให้เกินเหตุ จนเป็นโรคตัณหา สมุทัย ขึ้นมาภายในใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักมาก และทำให้เกิดความทุกข์มากยิ่งกว่าโรคทางกายเสียอีก เพราะทุกข์ทางกายเป็นทุกข์ในขันธ์ธรรมดา ใครๆ ก็เป็นได้

ส่วนทุกข์ทางใจนี้เกิดเพราะอำนาจของกิเลส ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ผิดธรรมดา ทุกข์ทางร่างกายเป็นเพราะความแปรปรวน ความผิดปกติของธาตุ จึงเกิดขึ้นเป็น ธรรมดา แต่ทุกข์ทางใจนี้ ร้อยทั้งร้อยเกิดขึ้นเพราะอำนาจของกิเลส ตัณหา ความหิวโหยทั้งนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องใช้เหตุผล ทุกขปริเวทนาเป็นขึ้นที่ไหน ก็พิจารณาแก้ไขไปตามเรื่อง และให้ทราบเสมอว่านั้นเป็นอันหนึ่ง ซึ่งเป็นสมบัติกลางที่เราได้อาศัย แต่ไม่ถือว่านั้นเป็นเรา เป็นของเรา เป็นต้น นี่คือ วิธีการแยกแยะระหว่างขันธ์กับจิต จะเป็นขึ้นมากน้อย ก็ปฎิบัติไปตามเรื่อง แก้ไขกันไปตามความสามารถที่จะเป็นไปได้ และพยายามรักษาจิตใจ อย่าให้กำเริบไปยึดไปถือไปวุ่นวายกับเขา จะเป็นทุกข์สองขั้น คือ ทุกข์ทางกายเป็นเหตุเมื่อเพิ่มทุกข์เป็น ๒ ทุกข์ ก็ยิ่งเป็นทุกข์หนัก

ผู้ปฏิบัติธรรมจึงใคร่ครวญด้วยสติปัญญา อย่าหละหลวมลืมตัว ไม่เหมือนผู้ไม่ ปฏิบัติธรรมทั่วๆไปเลยเวลาเกิดทุกข์ก็ต่างกัน ผู้ปฎิบัติธรรมพอมีทางหลบหลีกมีทางแยกแยะ มีทางผ่อนคลายด้วยอุบาย ถึงจะเป็นมากก็พอแบ่งเบาตัวได้ ไม่ได้ ยก แบก หาม กันทั้งหมดไม่ได้แบกกันทั้งความทุกข์กายและความทุกข์ใจ ระหว่างผู้ปฏิบัติธรรมกับผู้ไม่เคยปฏิบัติธรรมเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจึงผิดกันอยู่มาก

การสอนธรรมนั้น คิดว่าสอนโดยถูกต้องตามที่เคยปฏิบัติมาและเข้าใจมาบ้างแล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมพึงปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรม การปฏิบัติก็ปฏิบัติเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ ที่มันสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับใจเราตลอดเวลานี่แหละ จะปฎิบัติที่ไหน ปฏิบัติอย่างนี้ถูกเรื่องอื่นๆ ก็ถูก

เรื่องภายนอกเกี่ยวโยงกับใครๆ สิ่งแวดล้อมใดๆ นั้นมันห่างจากตัวเราอยู่มาก ไม่เหมือนขันธ์กับจิตที่ติดแนบอยู่กับเรา เมื่อถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรา มันติดอย่างสนิทแยกกันไม่ออก ที่แยกไม่ออกก็เพราะไม่แยกและไม่พยายามจะแยก เพราะไม่เข้าใจแยกพยายามพิจารณาให้รู้ เมื่อพอเข้าใจบ้างแล้วก็พยายามแยก พยายามพิจารณาให้รู้ตามความจริงของมัน ตามสัดส่วนที่มันเป็นขึ้นมากน้อย อ่านต่อ...