การเกิดขึ้นของสมาธิจิต จะเกิดขึ้นตามสภาวะของจิต ไม่มีอำนาจอื่นใดมาบังคับให้เกิด ความรู้ไม่มีอะไรมาบังคับให้รู้ อาการรู้จะเป็นไปโดยลำพังของจิตเอง หลักการมีอยู่ว่า ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต ผู้ปรารถนาที่จะเว้นความชั่ว ประพฤติดี ให้ยึดมั่นอยู่ในหลักศีล ๕ ข้อ คือ
๑. ห้ามฆ่าสัตว์
การกระทำบาปทุกอย่าง แม้ว่าจะทำให้จิตเศร้าหมอง หรือเป็นผลบาปผลกรรม แต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่าการละเมิดศีล ๕ ผู้ตั้งใจสมาทานศีล ๕ สังวรระวังรักษาอยู่ในศีล ๕ ได้ชื่อว่าเป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรม บาปกรรมที่จะทำให้ผู้กระทำไปตกนรกนั้น มีเพียงการละเมิดศีล ๕ ข้อเท่านั้น บาปกรรมอื่นๆ จะมีบ้างก็มีแค่ทำความหมองใจ ไม่ถึงกับยังผลให้ผู้ทำไปตกนรก ผู้ใดมีเจตนาแน่วแน่ว่าจะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์สะอาดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก็จะเป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรม เราเคยทำบาปกรรมอันใดไว้แต่ในอดีต เมื่อมาบำเพ็ญศีล ๕ ก็เป็นอันว่ายุติกันเพียงแค่นี้ ในอดีตชาติมีบาปกรรมอยู่เท่าใดมันก็มีอยู่เพียงเท่านั้น เมื่อเรามีศีล ๕ แล้วผลเพิ่มย่อมไม่มี และศีล ๕ นี่แหละเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ ผู้ภาวนาจะสำเร็จมรรคผลนิพพานก็ต้องอาศัยศีลเป็นหลักสำคัญ สมาธิที่ไม่มีศีลก็สามารถจะทำจิตให้เป็นสมาธิได้ แต่ไม่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน สมาธิที่จะยังผู้ปฏิบัติให้สำเร็จมรรคผลนิพพานขึ้นต้นด้วยการมีศีล ๕
ถ้าหากไม่มีความจำเป็นอย่าไปสมาทานศีลให้เพิ่มมากขึ้น ศีลที่ว่าจะเป็นบาปเป็นกรรมกันจริงๆ คือศีล ๕ ข้อ ส่วนใหญ่เราสมัครใจอยากจะมีศีล ๒ ชั้น และเพิ่มอีก ๓ ข้อข้างท้าย (ศีล ๘) แต่เมื่อสมาทานแล้ว เรารักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่ได้ มันก็เป็นการสร้างบาปสร้างกรรมให้กับตัวเองโดยไม่มีเหตุผล คฤหัสถ์ผู้มั่นในศีล ๕ รับประทานข้าวเย็นได้ ตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับต่างๆก็ได้ ประดับด้วยของหอม เครื่องย้อม เครื่องทาก็ได้ จะฟังขับร้องประโคมดนตรีหรือตนเองจะประโคมเองก็ได้ไม่ผิดศีล แต่ถ้าเราไปสมาทาน ๓ ข้อข้างปลายและรักษาไม่ได้ก็เป็นการสร้างบาปให้แก่ตัวเอง ขอให้ท่านทั้งหลายจงทำความเข้าใจอย่างนี้ ในเมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ศีล ๘ ก็ดี ศีล ๑๐ ก็ดี ศีล ๒๒๗ ก็ดี จะเพิ่มขึ้นเองโดยอัตโนมัติโดยเราไม่ตั้งใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มุ่งจะละชั่ว ประพฤติดี ต้องตั้งใจให้มั่นคงอยู่ที่ศีล ๕ ข้อ
ความดีที่จะเป็นที่พึ่งอย่างแน่นอนก็คือการทำสมาธิ การปฏิบัติสมาธิเป็นหลักการทำจิตให้มั่นคง คือมั่นคงในการบุญการกุศล เมื่อสมาธิมีแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้นเอง ถ้าท่านผู้ใดตั้งใจแน่วแน่ลงไปว่าจะภาวนาพุทโธๆๆให้ได้วันละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๑ ชั่วโมง แล้วก็ตั้งใจทำไป จิตจะสงบก็ตาม ไม่สงบก็ตาม อดทนทำไปเรื่อยๆ ตั้งใจจริงแล้วผลย่อมจะเกิดขึ้นมาเอง จิตเป็นสมาธิดีแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าวิปัสสนากัมมัฏฐานจะไม่เกิด ขอให้มีสมาธิคือสมถะอย่างเดียวเป็นพอ เพราะ สมาธิทำให้เกิดปัญญา ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต เพราะฉะนั้น เมื่อมีศีลบริสุทธิ์จิตก็สงบเป็นสมาธิเอง ถ้ามีสมาธิดีแล้วปัญญาก็ย่อมเกิดขึ้นเอง ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว จิตย่อมรู้ทันเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก จิตก็จะมีความบริสุทธิ์สะอาดขึ้นเอง มีสติปัญญาเฉียบแหลมว่องไวเท่าใด จิตก็ย่อมจะใสสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น จิตจะรู้เท่าทันเหตุการณ์ทั้งภายนอกและภายใน นี่คือหลักการปฏิบัติในเบื้องต้น
บัดนี้เราได้มีโอกาสมาพบกันในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัทด้วยกัน เรามีพระพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมประจำจิตใจ เมื่อเราไหว้พระ เราอ้างถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ โดยยึดถือว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ก็ขอทำความเข้าใจกับท่านทั้งหลายก่อน บางท่านอาจจะสงสัยว่าพระพุทธเจ้าคืออะไร อยู่ที่ไหน พระธรรมคืออะไร อยู่ที่ไหน และพระสงฆ์คืออะไร อยู่ที่ไหน ที่เราไหว้พระกันทุกวันนี้ เราอาจนึกว่า พระพุทธเจ้าคือพระพุทธรูป พระธรรมคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็นึกไปถึงพระคัมภีร์ที่อยู่ในตู้ในวัด พระสงฆ์ก็คือลูกหลานของชาวบ้านที่สละเพศฆราวาสออกบวช อาจจะคิดไปอย่างนั้น ถ้าหากเราคิดเช่นนั้น เราก็จะเข้าใจว่า พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ห่างตัวเรา พึงทำความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี อยู่ที่จิตใจของเราเอง อยู่ที่ใจของเราทุกๆคน
คำว่าพระพุทธเจ้า มาจากคำบาลีว่า พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คำว่ารู้นี้ รู้ยิ่ง ซึ่งเราจะนึกได้ทันทีว่าเป็นกิริยาของใจ ฉะนั้น คำว่า พุทโธ คือพระพุทธเจ้า แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จึงเป็นกิริยาของใจ เราจึงมีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจกันทุกคน เมื่อเรารู้ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจของเรา เราก็รู้ได้ทันทีว่าพระพุทธเจ้าคืออะไร โดยธรรมชาติ จิตเป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ถ้าจิตดวงนี้รู้เฉยๆ มันก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ท่านจะเชื่อก็ตามไม่เชื่อก็ตาม แต่ขอบอกท่านว่ากายกับใจเป็นคนละอย่าง กายได้แก่รูปร่างที่เรามีกันอยู่ทุกคน ใจก็คือความรู้สึกนึกคิดที่มีกันอยู่โดยทั่วไป ทั้ง ๒ อย่างนี้เมื่อมันมาประกอบกันเข้าเมื่อใด เราก็มีกายกับใจขึ้นมาเมื่อนั้น แต่ใจดวงนี้ไม่มีตัวตน เป็นธาตุรู้ เมื่อมันมาประกอบกับกายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ใจหามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ ตาเป็นเครื่องมือของใจ หูเป็นเครื่องมือของใจ สิ่งที่เรารู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นผู้จดจำเอาไว้ เมื่อใจของเราคือธาตุแท้แห่งพุทธะคือผู้รู้ เพื่อให้เกิดความเป็นพุทธะโดยสมบูรณ์ เราจึงจำเป็นต้องฝึกหัดจิตของเราให้มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี จิตหรือมโนธาตุเป็นแต่เพียงธาตุรู้เฉยๆ จึงไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว และมันก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้นเพราะมันไม่มีตัว แต่เมื่อเกิดมีตัวขึ้นมาแล้ว มันก็มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และตา หู จมูก ลิ้น กายนี่เองเป็นเครื่องมือของใจ เพราะฉะนั้น ทั้ง ๒ อย่างนี้คือกายกับใจประกอบกันเข้า มีรูปร่างหน้าตาเหมือนอย่างพวกเรานี้ และเรียกกันมาว่า มนุษย์ โดยสัญชาติของมนุษย์ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นั้น เราถือกันว่ามนุษย์มีใจสูง เมื่อมนุษย์มีใจสูง ทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องพยายามทำให้มันมีระเบียบ มีกฎเกณฑ์ เพราะฉะนั้น ใครก็ตามเมื่อมีสภาวะรู้ ตื่น เบิกบานอยู่ในจิต และก็มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่ในจิตในใจความรู้สึกของตัวเอง ผู้นั้นได้ชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ เพราะพุทธะแปลว่าผู้รู้ เป็นกริยาของใจ ใครก็ตามที่ทรงความดีเอาไว้โดยพยายามให้มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี มีสติสัมปชัญญะ รู้สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดควร รู้สึกสำนึกอยู่อย่างนี้ได้ชื่อว่า เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระธรรม กิริยาที่สังวรระวังและรำลึกอยู่เสมอว่า เราจะละชั่วเราจะทำแต่ความดี เราจะทำใจให้บริสุทธิ์ สะอาด ความตั้งใจหรือความรู้สึกสำนึกอย่างนี้คือคุณของความเป็นพระสงฆ์
ฉะนั้น ปัญหาที่ว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์คืออะไร และพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ที่ไหน ก็พอที่จะเข้าใจและสรุปได้แน่ชัดว่าอยู่ที่จิตที่ใจของเรานั่นเอง อ่านต่อ...