อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยะสัจจัง ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี่คือทุกข์ ทุกข์ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ในเมื่อมีชาติคือความเกิด ก็มีความแก่ มีความแก่ก็มีเจ็บ มีเจ็บแล้วก็มีตาย ในเมื่อยังไม่ตาย กระทบอารมณ์ไม่เป็นที่พอใจ เช่น ความพลัดพราก หรือความสูญเสียสิ่งที่ตนหวงแหน มันก็เกิดโทมนัสน้อยใจ เกิดโศกเศร้า เกิดทุกข์ ปริเทวนารำพันต่างๆ ร้องไห้เสียใจ ลูกตายเสีย เมียตายจาก ไฟไหม้บ้าน ลูกชายลูกสาวขับรถไปชนถึงแก่ความตาย พากันร้องไห้โศกเศร้าเสียใจ อันนี้มันมีสาเหตุมาจากความเกิด เกิดอย่างเดียวเท่านั้นแหละเป็นทางมาของทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านจึงชี้ลงไปว่า นี่ทุกข์ ชาติปิ ทุกขา ความเกิดก็เป็นทุกข์ ชะราปิ ทุกขา ความแก่ก็เป็นทุกข์ มะระณัมปิ ทุกขัง ความตายก็เป็นทุกข์ รวมลงแล้วก็ทุกข์เพราะแก่ ทุกข์เพราะเจ็บ ทุกข์เพราะตาย แล้วสรุปลงไปก็ทุกข์เพราะเกิดนั่นเอง พอเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีทุกข์ต่างๆ ประดังเข้ามา เพราะฉะนั้น ความเกิดจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดกองทุกข์และเกิดกองสุข
เมื่อพระพุทธเจ้าชี้ทุกข์ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น ให้ภิกษุเบญจวัคคีย์ได้ฟัง ภิกษุเบญจวัคคีย์ก็มีสติกำหนดรู้ทุกข์ เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงในทุกข์แล้ว พระองค์ก็ทรงเตือนว่า ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ทุกข์เป็นสิ่งที่เธอพึงกำหนดรู้ ทุกข์เป็นสิ่งที่เธอกำหนดรู้แล้ว
ทีนี้ทุกข์ทั้งหลายมันเกิดเพราะตัณหา ตัณหาในใจนี่มันได้แก่อะไร ตัณหาในใจนี่ก็ความยินดี มันเป็นกามตัณหา ตัณหาในใจนี่ก็คือความยินร้าย ไม่พอใจ มันเป็นวิภวตัณหา ถ้ามันไปติดไปข้อง มันก็เป็นภวตัณหา เพราะมันยึด ในเมื่อกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหามีอยู่พร้อม ทุกข์มันก็เกิดขึ้นร่ำไป
ในเมื่อภิกษุเบญจวัคคีย์มีสติมีพลังแก่กล้าขึ้นกลายเป็นปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านอัญญาโกณฑัญญะ มีสติมีพลังแก่กล้า สมาธิมีความมั่นคง จิตก็ก้าววูบลงไป นิ่งปุ๊บ สว่างโพล่งขึ้นมา จักขุง อุทะปาทิ จักษุบังเกิดขึ้นแล้ว จักษุคือตาใจบังเกิดขึ้นแล้ว ทีแรกจิตของท่านไม่สงบ นิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว อันนี้เรียกว่า จักขุง อุทะปาทิ จักษุคือตาในบังเกิดขึ้นแล้ว
ทีนี้เมื่อมีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่โดยอัตโนมัติ สมาธิก็เป็นเองโดยธรรมชาติ สติก็เป็นเองโดยธรรมชาติ จิตมีพลังทั้งรู้ ตื่น เบิกบาน รู้อยู่ที่จิต ญาณัง อุทะปาทิ ญาณหยั่งรู้ได้บังเกิดขึ้นแล้ว ในตอนแรกนี่รู้ ๆ ๆ ๆ มองเห็นทุกข์ก็รู้ แต่ความจริงถ้ารู้ในขณะนั้น สุข ทุกข์มันไม่มี อย่าไปเข้าใจผิด
ในเมื่อจิตของท่านนิ่ง สงบ รู้ ตื่น เบิกบาน มีญาณหยั่งรู้ นิ่งอยู่เป็นเวลานานพอสมควร พอจิตถอนจากสมาธิส่วนลึก จากอัปปนาสมาธิมานิดหน่อย จิตมันไหวตัว แล้วก็มองย้อนไปถึงอารมณ์ที่ผ่านมา คืออารมณ์ที่เป็นเหตุให้จิตสงบนิ่งเป็นสมาธินั่นแหละ คือตั้งแต่พระองค์แสดงว่า ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง นี่ พอจิตรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว มันเข้าไปสู่ความสงบ นิ่ง รู้ ตื่น เบิกบานอยู่เฉยๆ
ทีนี้พอจิตถอนออกมาจากสมาธิอีกหน่อยหนึ่ง พอรู้สึกว่าไหวตัวพอที่จะคิดอ่านอันใดได้ มันก็ย้อนไปคิดทบทวนสิ่งที่พระพุทธเจ้าเทศน์ให้ฟัง ที่พระพุทธเจ้าว่าทุกข์มันเป็นอย่างนั้น สุขมันเป็นอย่างนี้ ตัณหามันเป็นอย่างนั้น ตัณหามันเป็นอย่างนี้ ทีนี้จิตของท่านอัญญาโกณฑัญญะก็สงบนิ่งลงไปอีกทีหนึ่ง ก็ยังมองเห็นแต่สิ่งที่เกิดดับ เกิดดับ อยู่นั่น จิตไม่หวั่นไหว ความที่จิตเป็นปกติไม่หวั่นไหว รู้ ตื่น เบิกบาน มันเป็นนิโรธะ
พอจิตสงบนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน ไม่หวั่นไหว ทุกข์มันก็ดับไปเพราะว่ากายเบาจิตเบา กายสงบจิตสงบ บางทีร่างกายตัวตนไม่มี ทุกข์มันก็ไม่ปรากฏ เพราะมันไม่มีที่เกิด สุขทุกข์มันเกิดเพราะมีกาย ถ้าจิตดวงนี้มีแต่จิตดวงเดียว มันไม่มีอะไรเกิดดอก มีแต่อยู่ซื่อๆ (เฉย ๆ) พอรู้อะไรก็ได้ แต่นิ่งอย่างเดียว ไม่ไหวไม่ติง ไม่มีภาษา ไม่มีสมมติบัญญัติใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อมันถอนออกมาแล้วมันจึงจะรู้ว่า ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม
ทีนี้ลักษณะของศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นไปในแนวทางอริยมรรค อริยผลนี่ ศีลบริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา กายปกติ วาจาปกติ จิตก็พลอยเป็นปกติด้วย กาย วาจา และใจเป็นปกติ นี่มองเห็นทางอริยมรรคแล้ว เพราะความปกติของจิตนั่นมันเป็นกลาง มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง จิตเป็นกลางๆ
พระพุทธเจ้าสอนให้มีสติกำหนดรู้ที่จิต ทีนี้เมื่ออะไรเกิดขึ้นดับไป ก็กำหนดรู้สิ่งนั้น แต่คำว่ากำหนดนี่เป็นแต่เพียงภาษาพูดหรอกนะ แต่เมื่อมันเป็นเองแล้ว เราไม่ได้ตั้งใจจะกำหนดอะไรทั้งสิ้น มันจะปฏิวัติตัวเป็นไปเอง ทุกข์มันก็จะรู้เอง สมุทัยมันก็จะรู้เอง นิโรธมันก็จะปรากฏเอง ลักษณะของนิโรธปรากฏขึ้นนั้น จิตนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว ทีนี้ในลักษณะที่มรรคบังเกิดขึ้นนั้น จิตไหวตัว สามารถมีความรู้ผุดขึ้นมาเป็นระยะ ๆ จิตก็มีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้ตลอดไป รู้สักแต่ว่ารู้ เห็นสักแต่ว่าเห็น รู้เห็นแล้วก็ปล่อยวางไป ไม่ยึดอะไรให้เป็นปัญหาที่จะทำให้ตัวเองเดือดร้อน ในขณะนั้นสมาธิก็เป็นหนึ่ง ศีลก็เป็นหนึ่ง ปัญญาก็เป็นหนึ่ง