ปัญหาเรื่องกรรม

พูดถึงเรื่องกรรมนี้ พระศาสดาทรงแสดงว่าเป็นอจินไตย บุคคลไม่ควรคิดให้มากเพราะวิบากของกรรมที่สัตว์กระทำ ได้เสวยร้อยแปดพันประการ เพราะจิตใจของมนุษย์ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงครอบงำอยู่ มันคิดไปร้อยแปดพันอย่าง วันหนึ่งๆ ไม่ทราบว่าคิดอะไรต่ออะไร มีทั้งบุญมีทั้งบาป มีทั้งไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป คลุกเคล้ากันอยู่ก็เท่านั้น

ชนกกรรม

เรื่องของกรรมนี้ พระศาสดาทรงแสดงหลักไว้ให้ได้คิดกัน คือ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัตวโลกทั้งหลายนี้มี ชนกกรรม มีกรรมให้เกิด ชนกกรรมก็คือ กุศลกรรม อกุศลกรรมที่บุคคลได้กระทำนั่นแหละ เป็นผู้ให้กำเนิดขึ้น จะเกิดเป็นมนุษย์ หรือเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เหล่านี้ก็เนื่องจากชนกกรรม ดังที่ว่านี้แหละ และอุปถัมภ์ไว้ให้มีความเจริญ ลาภ ยศ สรรเสริญ มีความสุข มีอายุยืนยาว ทรวดทรงสวยสดงดงาม ผิวพรรณผ่องใส อย่างนี้เรียกว่าอาศัยกุศลกรรมบำรุงไว้ ไม่ให้มีภัยอันตรายเกิดขึ้น หากบุคคลนั้นอาศัยอกุศลกรรมติดตัวมาให้เกิดขึ้น อกุศลกรรมนั่นแหละก็จะตกแต่งให้เป็นทุกข์ ทุกข์ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ตายแล้วไปตกนรก เมื่อถูกน้ำร้อนลวก ไฟเผาก็ตะเกียกตะกายขึ้นจากนรกแล้วก็หนีไป หนีไปก็ไม่พ้น นายยมบาลก็จับซัดลงไปในนรกอีก นี่เรียกว่า อกุศลกรรมอุปถัมภ์ไว้ มันบังคับไว้ให้ไปทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้น

อุปปีฬกกรรม

ทีนี้ อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น กรรมบีบคั้นนี้ก็แบ่งได้เป็น ๒ เหมือนกัน ถ้าหากว่าคนๆ หนึ่งทีแรกทำบาปมาแล้ว ต่อมามารู้สึกตัวว่าบาปนี้ไม่ควรทำ มันตกแต่งให้เป็นทุกข์ รู้ตัวแล้วก็รีบเร่งทำกุศลคุณงามความดี คือหลีกเลี่ยงจากบาปอกุศลที่กระทำมานั้นให้พ้นไป เมื่อทำกุศลคุณงามความดีให้แก่กล้ามากขึ้น มีกำลังเหนือบาปอกุศลกรรมเหล่านั้น ก็บีบคั้นบาปที่ทำไว้ก่อนไม่ให้มีโอกาสที่จะให้ผลได้ ในที่สุดก็เลยกลายเป็นอโหสิกรรมไป ที่ท่านเรียกว่า “อุปปีฬกกรรม” ทีนี้ถ้าหากว่าบุคคลมาทำบุญกุศลไว้แต่พอสมควร เมื่อภายหลังมาเกิดความเห็นผิดไปทำบาปเสียหายเข้า อันนี้อำนาจของบาปนั้นก็บีบคั้นบุญกุศลที่ทำไว้ไม่ให้มีโอกาสได้มีผลแก่ผู้กระทำเลย เพราะว่าบุญมีกำลังน้อย บาปมีกำลังมากกว่า บุคคลนั้นจึงต้องประสบแต่ความทุกข์เป็นส่วนมาก นี่คือลักษณะหนึ่งของอุปปีฬกกรรม อ่านต่อ...