การบำเพ็ญศีล

สิกขาบท ๕

พระพุทธเจ้าตรัสเป็นพุทธภาษิตไว้ว่า “เจตนาหัง ภิกขเว สีลัง วทามิ” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวเจตนาคือตั้งใจละเว้นจากความชั่วทางกาย ทางวาจานั่นแหละว่าเป็นศีล พระองค์ได้ตรัสไว้อย่างนี้ ก็ลองพิจารณาดู ดังนั้นจึงได้ความว่าเมื่อใดตั้งใจแน่วแน่ไว้ว่าเราจะไม่ทำชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยเจตนาล่วงสิกขาบทที่ได้สมาทานแล้ว ผู้เป็นคฤหัสถ์ก็ต้องมีศีล ๕ ประจำตัว คือตั้งใจละเว้นจากเวร ๕ ประการ คือ ปาณาติบาต เป็นต้น ผู้นุ่งขาวห่มขาวก็ต้องปฏิญาณมั่นในสิกขาบท ๘ ประการ ตั้งใจสังวรระวังไม่ให้ล่วงเกินสิกขาบท ๘ ประการนี้ บางสิกขาบทอาจจะยังไม่เข้าใจก็ได้ จึงจะแสดงให้เข้าใจเป็นข้อๆ ไป

๑. ตั้งเจตนาละเว้นไม่เบียดเบียนสัตว์ทุกชนิด นับตั้งแต่มีชีวิตมองเห็นด้วยตาคือสัตว์ใหญ่ที่สุดเท่าช้าง เราจะสังวรระวัง พยายามไม่คิด ไม่เบียดเบียนสัตว์เหล่านี้ให้ถึงซึ่งความตาย หรือเบียดเบียนให้เกิดความเจ็บปวดทุกขเวทนาต่างๆ

๒. เราจะตั้งใจละเว้นจากการเอาของของผู้อื่นมาเป็นของๆ ตนโดยอาการแห่งขโมย ของใครก็ตามที่มีเจ้าของหวงแหนอยู่แล้ว เราจะไม่หยิบไม่ฉวยเอาโดยที่เจ้าของเขาไม่อนุญาต โดยมิได้ขอหรือไม่ซื้อก่อน

๓. อพรหมจริยา นี้เราจะตั้งจิตเจตนาละเว้นจากการกระทำกรรมอันไม่ใช่วิสัยของผู้เป็นนักบวช เรียกว่าเป็นนิสัยของผู้ครองเรือน ผู้ครองเรือนนั้น เป็นผู้มีผัวมีเมีย ผู้ที่มาเป็นนักบวชแล้วก็ต้องละเว้นจากความเป็นคนคู่ดังกล่าวมาแล้ว เว้นทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ จิตใจก็ไม่คิด ไม่ดำริไปในเรื่องอย่างนั้น วาจาก็ไม่กล่าวไปในเรื่องอย่างนั้น ทางกาย ผู้รักษาศีล ๘ ข้อสำคัญอย่างหนึ่งนั้น นอกจากจะละเว้นจากอกุศลกรรมอย่างว่านั้นแล้ว ระเบียบการรับของจากมือของเพศตรงกันข้าม เมื่อจะส่งข้าวของสิ่งใดให้แก่ใครก็ต้องวาง สำหรับเพศตรงกันข้ามนะ ถ้าเพศตรงกันข้ามเอาสิ่งของอะไรยื่นให้ก็ต้องให้เขาวางก่อนแล้วจึงหยิบเอา ไม่ควรจะไปจับเอาของจากมือเพศตรงกันข้าม อันนี้เป็นข้อปฏิบัติในสิกขาบทข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นส่วนละเอียดลงไป

๔. ต้องระมัดระวังตั้งเจตนาว่า เราจะไม่พูดเท็จ จะพูดแต่คำจริง เราจะไม่พูดส่อเสียดให้ใครแตกร้าวสามัคคีกัน เราจะไม่พูดคำหยาบโลนต่อใครๆ ทั้งหมด เราจะพูดแต่คำอ่อนหวาน เราจะพูดแต่คำอ่อนโยน และเราจะไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล พูดอย่างที่ไม่มีเหตุมีผลนั่นแหละท่านเรียกว่าพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีประโยชน์ พูดเล่นๆ บางคนชอบพูดอย่างนั้น คิดอะไรได้พูดไปทั้งวัน โดยไม่คำนึงถึงว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ การกล่าววาจาต้องรู้จักประหยัด พระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักประหยัด ที่ว่าห้ามไม่ให้พูดเพ้อเจ้อ ให้ถือเอาใจความอย่างนี้ ให้รู้จักประหยัดคำพูด ก่อนจะพูดอะไรก็ต้องตริตรองเสียก่อน ถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์ก็พูด คิดว่าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่พูดให้เสียเวลาไปเปล่าๆ นิ่งเสียดีกว่า พูดไปแล้วมันไม่เห็นประโยชน์ ต้องพากันสำเหนียกไว้ให้ดี เรื่องคำพูดคำจานี้เกี่ยวเนื่องถึงจิตใจเหมือนกัน บุคคลผู้มีจิตใจเลื่อนลอยไปไม่มีสติย่อมแสดงออกทางกาย วาจา กิริยาก็ลุกลี้ลุกลนไม่เป็นระเบียบ ทางวาจาก็พูดจาปราศัยไม่มีเหตุผล คือไม่ได้คิดอะไร พูดเรื่อยเปื่อยไปอย่างนั้น นี่แหละเป็นเครื่องส่อแสดงว่าภายในจิตใจของผู้นั้นมันเลื่อนลอย ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิตั้งมั่นอยู่ภายใน ศีลข้อนี้มีความสำคัญมาก มันเกี่ยวเนื่องถึงจิตใจ วาจานี้ถ้าจิตไม่บงการแล้วพูดไม่ได้เลย

๕. ให้จิตเจตนาคิดละเว้นลงไปว่า เราจะไม่ยินดีพอใจของมึนเมาทุกชนิด เพราะของมึนเมาทุกชนิดมีแต่โทษอย่างเดียว ไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พุทธบริษัทบริโภคของมึนเมาต่างๆ ถ้าหากว่ามันไม่มีโทษแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงบัญญัติห้ามไว้ อ่านต่อ...