จะขอนำโอวาทของครูบาอาจารย์เท่าที่จำได้และยึดเป็นหลักปฏิบัติมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ องค์ละข้อ
พระอาจารย์เสาร์ ท่านสอนกรรมฐาน ถ้ามีใครถามว่าอยากจะปฏิบัติกรรมฐานทำอย่างไร ท่านจะบอกว่า พุทโธซิ พุทโธแปลว่าอะไร อย่าถาม ภาวนาพุทโธแล้วจะได้อะไรดีขึ้น ถามไปทำไม ฉันให้ภาวนาพุทโธลูกเดียว ทีนี้ถ้าลูกศิษย์ท่านใดรีบปฏิบัติตามคำสั่งของท่านอย่างผู้ว่าง่าย ไม่ได้ฟังอีร้าค่าอีรมอะไร ไม่ต้องไปสงสัยข้องใจอะไร ท่านอาจารย์สอนให้ภาวนาพุทโธ ฉันก็พุทโธ พุทโธๆๆ ลูกเดียว ไม่ต้องสงสัย ถ้าใครไปตั้งใจปฏิบัติตามโอวาทของท่านอย่างจริงใจ ไม่เกิน ๗ วันต้องมีปัญหามาให้ท่านแก้ บางท่านไปภาวนาพุทโธแล้วจิตสงบ นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน บางทีกระแสจิตส่งออกนอก เห็นโน่นเห็นนี่ ถ้ามาถามท่าน จิตเป็นอย่างนี้จะผิดหรือถูกประการใด ถ้าหากว่าถูก ท่านก็บอกว่า เร่งภาวนาเข้าๆ ให้มันเข้าถึงความเป็นเอง ถ้าหากมันไม่ถูกต้อง ส่งออกนอกมากนัก ท่านก็บอกว่าให้พยายามระงับ อย่าให้มันส่งออกไปมากนัก ถ้าหากพอรั้งเอาไว้ได้ก็ให้รั้งเอาไว้ ถ้ารั้งไม่ได้ก็ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน ท่านก็สอนอย่างนี้
และอีกประเด็นหนึ่ง ในฐานะที่หลวงพ่อเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์องค์สุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้ ในสมัยที่เป็นสามเณร ไปปรนนิบัติท่าน อยู่ๆ ท่านก็พูดขึ้นมาเปรยๆ ว่า เวลานี้จิตข้ามันไม่สงบ มันมีแต่ความคิด เมื่อเรียนถามท่านว่า จิตฟุ้งซ่านหรืออย่างไร ท่านอาจารย์ ท่านก็จะบอกว่า ถ้ามันเอาแต่นิ่ง มันก็ไม่ก้าวหน้า จิตข้ามีแต่ความคิด มันไม่สงบ พอถามว่า ฟุ้งซ่านหรืออย่างไร ท่านก็ตอบว่า "ถ้ามันเอาแต่นิ่งลูกเดียว มันก็ไม่ก้าวหน้า อันนี้เป็นปัญหาที่ลูกศิษย์นักปฏิบัติจะต้องทำความเข้าใจ ที่ท่านอาจารย์ท่านว่าอย่างนั้น มันก็ไปได้ในหลักของสมาธิและฌาน
ทีนี้ หลวงปู่เทสก์ ท่านให้โอวาทว่า คราวหนึ่งไปกราบเยี่ยมท่าน พอกราบเสร็จแล้วท่านก็บอกว่า เจ้าคุณมาแล้วก็ดีแล้ว จะเว้าอะไรให้ฟัง หลวงพ่อก็บอกว่า ถ้าจะเว้าก็รีบเว้าอยากฟังอยู่เหมือนกัน เสร็จแล้วท่านก็กล่าวขึ้นมาว่า สมาธิในฌานมันโง่ สมาธิในอริยมรรคมันฉลาด สมาธิในฌาน จิตสงบนิ่งแล้วรู้ในสิ่งๆ เดียว ความรู้อื่นไม่ปรากฏ แต่สมาธิในอริยมรรค พอจิตสงบแล้วมีความรู้ความคิดผุดขึ้นๆ อย่างกับน้ำพุ จิตก็มีสติกำหนดรู้ตามไปทุกระยะ พอไปถึงจุดหนึ่ง จิตก็จะนิ่งกิ๊กลงไปแล้วสว่างไสว กิเลสทั้งหลายมาวนรอบจิตอยู่ เมื่อมาถึงความสว่างของจิต มันจะตกไปๆ เหมือนแมลงบินเข้ากองไฟ อันนี้เป็นโอวาทของหลวงปู่เทสก์
ทีนี้โอวาทของ หลวงปู่ฝั้น อย่าปล่อยให้จิตมันอยู่ว่าง คำว่าอย่าปล่อยให้จิตมันอยู่ว่าง เราควรทำความเข้าใจอย่างไร เราจะสร้างความคิดให้มันไม่หยุดยั้งอย่างนั้นหรือ . ไม่ใช่ อย่าไปเข้าใจผิด คำว่าอย่าปล่อยให้จิตมันอยู่ว่างคือ ให้มีสติกำหนดรู้จิตตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิดให้มีสติรู้ตัวตลอดเวลา ท่านหมายความว่าอย่างนั้น
โอวาทของ หลวงปู่แหวน เจ้าคุณอย่าไปไขว่คว้าอะไรให้มันมากมายนัก ให้กำหนดสติรู้จิตเพียงอย่างเดียว บาปมันเกิดที่จิต บุญมันเกิดที่จิต ดีชั่วเกิดที่จิต สวรรค์นิพพานเกิดที่จิต มันไม่ได้เกิดที่อื่น เพราะฉะนั้น เราอยากจะรู้จริงเห็นจริงในธรรมะคำสั่งสอน หรือจะสำเร็จมรรคผลนิพพาน ให้กำหนดสติรู้จิตเพียงอย่างเดียว องค์นี้สอนอย่างนี้
หลวงปู่มหาบัว ท่านเล่าเรื่องของท่านให้ฟังว่า เมื่อก่อนนี้นายบัวเป็นคฤหัสถ์ อยากบวชเป็นพระก็ได้บวชแล้ว พอบวชเป็นพระแล้วอยากเป็นมหา ไปเรียนกับเขา สอบได้ ๓ ประโยค เอาละ แค่นี้เขาก็เรียกมหาเหมือนกัน พอเป็นมหาแล้วอยากเป็นพระนักปฏิบัติก็ได้ปฏิบัติแล้ว พอปฏิบัติแล้วอยากรู้ธรรมเห็นธรรม ก็ได้รู้บ้างตามสมควรแก่ความสามารถ พอรู้ธรรมเห็นธรรมแล้วอยากเป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้เลยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร มันก็เป็นหลวงตาบัวตามเดิมนั่นแหละ อันนี้ท่านผู้ฟังจะเข้าใจว่าอย่างไร ถ้าเรามาพิจารณาว่า ท่านผู้ใดสำคัญตนว่าเป็นพระโสดาบัน คนนั้นไม่ใช่ ท่านผู้ใดสำคัญตนว่า เป็นพระสกทาคา อนาคามี อรหันต์ คนนั้นไม่ใช่ เพราะความเป็นพระอรหันต์มันอยู่เหนือสมมติบัญญัติ ผู้สำเร็จแล้วจะรู้สึกเพียงแค่ว่าตัวหมดกิเลสแล้วเท่านั้น อันนี้เป็นโอวาทของพระอาจารย์มหาบัว
อาตมาเป็นลูกศิษย์หลายครูหลายอาจารย์ ก็จำเอาโอวาทของครูบาอาจารย์องค์ละข้อ แต่ในเมื่อมาพิจารณาดูแล้ว มันก็เป็นอุปกรณ์ในการปฏิบัติ ทำให้เรารู้ธรรมเห็นธรรมได้บ้างตามสมควรแก่ฐานะ อ่านต่อ...