รู้ที่จิต แก้ที่จิต ตอน 1

การไหว้พระสวดมนต์เป็นการเจริญสมาธิภาวนา

ต่อไปนี้ขอได้โปรดตั้งใจฟังธรรม เตรียมนั่งสมาธิเลย การไหว้พระสวดมนต์เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกสมาธิ เพราะเราต้องมีสติกำหนดจิตและบทสวดมนต์ให้ถูกต้อง ให้เป็นไปตามจังหวะจะโคน ตามวรรคตอนแห่งบทสวด ด้วยความมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ระมัดระวังไม่ให้มีการสวดผิดพลาด ได้ชื่อว่าเป็นการฝึกสมาธิ

บทสวดมนต์เป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ เมื่อสติไปกำหนดอยู่ที่บทสวดมนต์ หรือกำหนดรู้จิตที่กำลังตั้งใจสวดมนต์อยู่นั้นไม่ให้ผิดพลาด เป็นการเจริญหนึ่งในมหาสติปัฏฐาน ๔ คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดรู้อาการของจิตที่นึกถึงบทสวดมนต์เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน รู้เสียงที่เปล่งออกมาหนักหรือเบา ดังหรือไม่ดัง ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเสียงเป็นสิ่งที่เนื่องด้วยกาย ถ้ากายมีอาการผิดปกติ คือ คอแหบ เสียงก็แห้ง ถ้าหลอดลมเสีย เสียงก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเสียงที่เปล่งออกไป เมื่อมีสติกำหนดรู้ จึงได้ชื่อว่า เจริญกายคตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ส่วนจิตที่กำหนดรู้ความคิดอ่าน คือตั้งใจที่จะเปล่งเสียงออกมา เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่ดูเอาง่ายๆ อย่างนี้ ดูธรรม

ทุกสิ่งเกิดแต่จิต จึงควรกำหนดรู้จิตให้มากๆ

ดังนั้น การที่เราจะมาปฏิบัติธรรม เราต้องมีสติกำหนดรู้จิตของตน ตั้งใจกำหนดสติรู้ที่จิต เมื่อเราตั้งใจกำหนดสติรู้ที่จิต จิตก็ว่าง เมื่อจิตว่างแล้วก็ต้องรู้ความว่าง การตามรู้ความคิดและความว่างของจิตก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดรู้อารมณ์จิตสบายหรือไม่สบาย ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ความคิดที่ปรุงแต่งให้เรารู้ว่าอารมณ์นี้สบายหรือไม่สบาย เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฟังเทศน์ไม่ถูกใจ เกิดความหงุดหงิด งุ่นง่าน ไม่อยากฟัง เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ก็เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และการกำหนดรู้อารมณ์จิตที่มันเกิดความงุ่นง่านรำคาญ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน กำหนดรู้ธรรมคือนิวรณ์อันเป็นสิ่งที่จะมาตัดทอนคุณงามความดีมิให้บังเกิด กำหนดดูกันอย่างนี้ดีไหมล่ะ รู้แจ้งเห็นชัดดีหรือเปล่า

ถ้าหากเรากำหนดรู้จิตของเราอยู่นานๆ ถ้าจิตว่างอยู่นานๆ อาการที่จิตกำหนดรู้นั้นคือคุณธรรม พุทโธ ในเมื่อกำหนดรู้เมื่อไร ก็มีพุทโธเมื่อนั้น พุทโธนี่มีทั้งกำหนดและไม่กำหนด เพราะจิตเป็นธรรมชาติรู้ เพราะฉะนั้น สิ่งใดซึ่งแสดงออกมีอาการรู้ สิ่งนั้นเรียกว่าจิต และรู้นั้นคือพุทโธ ถ้าพุทโธมีพลังแก่กล้า มีความสว่างแจ่มใสเบิกบาน ก็เป็น พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

เมื่อเรามากำหนดรู้จิตของเราว่างอยู่ เราก็รู้ว่าจิตของเราว่าง ถ้าจิตของเราคิดขึ้นมา เราก็รู้ว่าจิตของเราคิด การกำหนดรู้ความคิด จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ความคิดนี้ทำให้เราสุขหรือทุกข์ สบายหรือไม่สบาย เมื่อรู้ขึ้นมาแล้ว ก็เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าจิตวิ่งไปกำหนดรู้ลมหายใจ ลมหายใจเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาย ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้แต่การกำหนดรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิดทุกขณะจิตทุกลมหายใจ เพียงแค่นี้เราได้เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเรารู้ว่ากายเดินอยู่ กำหนดว่ามีกาย กายกำลังเดินก็กำหนดดูรูป อาการที่จิตรู้ว่าเดินก็กำหนดดูนาม ถ้าหากสุขทุกข์บังเกิดขึ้นเกี่ยวกับการเดิน จิตก็รู้ว่าเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มันก็วนเวียนกันอยู่ที่ตรงนี้แหละ

ดังนั้น การปฏิบัติธรรม ควรจะได้กำหนดสติรู้จิตของตนเองเป็นส่วนมาก เพราะว่าบุญมันก็เกิดที่จิตนั่นแหละ บาปมันก็เกิดที่จิตนั่นแหละ ดีมันเกิดที่จิตนั่นแหละ ชั่วมันก็เกิดที่จิตนั่นแหละ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เกิดที่จิตนั่นแหละ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันก็อยู่ที่จิตนั่นแหละ มันไม่ได้ไปอยู่ที่ไหน อ่านต่อ...