ธรรมโฆษณ์ ธรรมยาตรา เดินเท้า ก้าวธรรมตามรอยพุทธทาส
“อยากศึกษาธรรมะค่ะ”
“อยากเรียนรู้ธรรมะด้วยการเดินทางไกลค่ะ”
“อยากได้เพื่อนใหม่ครับ”
“อยากรู้จักตัวเองให้มากขึ้นกว่านี้”
“อยากวัดใจตัวเองว่าไปได้ไกลขนาดไหนค่ะ” ฯลฯ
หลากหลายเหตุผลของการสมัครเข้าร่วม “โครงการธรรมโฆษณ์ ธรรมยาตรา : เดินเท้า ก้าวธรรม” ของเยาวชนหลากหลายเชื้อชาติต่างศาสนา ที่ผลัดกันบอกเล่ากับเพื่อนๆ อีกร่วม 100 ชีวิต และแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์งานชาตกาล 100 ปีพุทธทาส ภิกขุ ในวันแรกที่เหยียบย่างถึงสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี อันเป็นวัดที่ท่านพุทธทาสได้อุทิศตนเพื่อสืบทอดพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนถึงวาระสุดท้ายของลมหายใจ
ขบวนธรรมโฆษณ์ ธรรมยาตรา การเดินทางเพื่อเผยแผ่ธรรมะให้กว้างขวางออกไป
แม่ชีศันสนีย์เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ให้ฟังว่า ก่อนที่ท่านพุทธทาสจะละสังขารได้บอกว่าเราต้องช่วยกันโฆษณาธรรมะ ธรรมโฆษณ์จึงหมายถึงการโฆษณาธรรมะ ดังนั้นธรรมโฆษณ์ ธรรมยาตรา จึงหมายถึงการเดินทางโฆษณาธรรมะเพื่อเผยแผ่ธรรมะให้กว้างขวางออกไป ซึ่งถ้าเราชวนคนหนุ่มสาวมาเป็นผู้โฆษณาธรรมะเพื่อแก้ปัญหาคนหนุ่มสาวด้วยกันเอง
เพื่อให้มีชีวิตที่ทันกาย ทันใจ ทันสุข ทันทุกข์ในปัจจุบันขณะ และหากมีครบจะถือว่าเขาเหล่านี้ล้วนเป็นบุคคลที่ทันสมัยด้วยใจของตัวเอง
ที่สำคัญคือ การมาครั้งนี้เป็นการมาเพื่อสังเกตตัวเองว่า ตอนที่เหนื่อยเราคิดอะไร
ร้อนกายเราคิดอะไร การเดินทางศึกษาธรรมก็เหมือนกับเราศึกษากายและใจของตัวเอง เมื่อเราเดินเท้าแต่อ่านใจแล้วจะสนุกเพราะไม่มีหนังสือเล่มไหนสนุกเท่าใจเรา
ลลดา เยืองยงค์ วัย 12 ปี ที่อาสาร่วมโฆษณาธรรมะเป็นคนแรก
“การเดินคราวนี้จะถือว่าเป็นการเดินอย่างทันสมัยที่สุด เป็นการเดินที่มีมิติทางสติปัญญา จึงเป็นพลังของโลก เราเริ่มต้นเดินด้วยก้าวย่างด้วยหัวใจที่รู้ตื่นและเบิกบานเพื่อให้ถนนทุกสายบนโลกนี้มีสันติภาพด้วยแรงของเยาวชนคนหนุ่มสาว เรานำธรรมกลับมาสู่คนที่มีมากที่สุดในโลก ซึ่งก็คือคนหนุ่มสาวให้รู้ว่าทันสมัยด้วยการมีธรรม”
ทั้งนี้ พุทธทาส ภิกขุสอนหลัก 4 ข้อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติว่า
1.ขอให้เราเข้าถึงหัวใจศาสนาของตน ด้วยการทลายเปลือกที่ห่อหุ้มสติปัญญาเข้าไปถึงเนื้อในซึ่งเป็นหัวใจแห่งศาสนาตน เข้าไปถึงเนื้อในของศาสนาตน
2.ทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ทุกศาสนาควรร่วมมือกันอย่างสหกรณ์เพื่อสันติภาพของโลก
3.นำโลกออกจากวัตถุนิยมที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวเพราะพอใจในรสของวัตถุ ถ้านำโลกออกมาเสียได้จากอำนาจของวัตถุนั่นแหละจึงจะเกิดความสงบสุข
รับมอบหนังสือธรรมะที่จะนำติดตัวไปเผยแผ่ตลอดเส้นทางที่ก้าวธรรมผ่าน
“ปณิธานทั้ง 3 ข้อนี้พวกเราจะร่วมสืบสานโดยการอัญเชิญหนังสือธรรมโฆษณ์ไปเผยแผ่ตลอดเส้นทางที่ก้าวธรรมผ่าน และในโอกาสมหามงคลสูงสุดการเดินเท้า
ก้าวธรรมในครั้งนี้จะเป็นการเดินเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษาในปี 2550 ด้วย”แม่ชีศันสนีย์อธิบาย
รัตนพล ศรีรัตน์ –น้องเอ อายุ 18 ปี จบจากมิชชั่น ไฮสกูล สหรัฐอเมริกา บอกว่า
อยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าการเดินเท้า 750 กิโลเมตรผ่าน 9 จังหวัดไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และเวลาที่เราเดินเหนื่อยก็จะมีกระจกส่องตัวเองว่าข้างในจิตใจเราเป็นคนยังไง โดยทุกวันจะมีการจดบันทึกลงในวัดใจไดอารี่ว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง และเมื่อเดินทางครบไดอารี่เล่มนี้จะเป็นตัวที่ช่วยบอกว่าในแต่ละวันตัวเรามีการพัฒนาอย่างไรบ้าง มีสภาพจิตใจเป็นอย่างไรบ้าง
“ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ตั้งแต่เด็กๆ เพราะอยู่ที่โรงเรียนประจำมาโดยตลอด พอโตหน่อยก็ไปเรียนที่อเมริกา พอกลับมาอยู่ที่บ้านก็ทะเลาะกันบ่อย ผมเป็นคนค่อนข้างใจร้อนเข้ากันไม่ค่อยได้เพราะความห่างด้วย ความที่พ่อแม่เลี้ยงแบบตามใจ ทีแรกพ่อกับแม่กลุ้มใจไม่รู้จะหาวิธีการไหนมาดี ก็เลยแกล้งชวนไปนั่งวิปัสสนา และผมก็ตัดสินใจไป มันก็เลยได้อะไรมาจริงๆ
ซึ่งหลังจากที่ได้เข้ามาสัมผัสตรงนี้ ผมจะไปแนะนำเพื่อนๆ ต่อเพราะเชื่อว่าจากเดิมที่เมื่อก่อนเคยเที่ยวเกรดต่ำแค่ 1 กว่าแต่พอเริ่มนั่งสมาธิเกรดก็ขึ้นมาภายใน 2 ปีเป็น 2.92”
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต หัวแรงสำคัญในการจัดงาน
“ผมจะฝึกวิปัสสนาวันละ 30 นาที แบ่งเป็นเดินจงกรม 15 อีก 15 นาทีสำหรับการนั่งสมาธิ การนั่งวิปัสสนาเหมือนกับการรับผิดชอบตัวเองอย่างหนึ่ง อยู่อเมริกาเรียนด้วยทำงานด้วยวิปัสสนาจึงช่วยได้ เพราะสมาธิช่วยให้โตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น”
น้องเอ บอกอีกว่า สำหรับการเดินครั้งนี้จะเดินผ่านชุมชนหลายๆ ชุมชนรวมทั้งชุมชนมุสลิม และตลอดทางที่เดินผ่าน โรงเรียนที่อยู่ในบริเวณนั้นก็จะมาร่วมเดินและสนทนาธรรมด้วย ซึ่งคิดว่าอย่างน้อยๆ หนังสือธรรมโฆษณ์ที่นำไปด้วยและได้อ่านทุกวัน ทุกๆ คนก็จะอ่านแล้วนำมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน หนังสือเล่มนี้สอนธรรมะให้กับคนโดยใช้คำที่ง่ายๆ
“ผมคงไม่มีความรู้หรือมีโอกาสที่จะศึกษาธรรมะได้ลึกซึ้งจนรู้ว่าเข้าใจธรรมะแค่ไหน แต่ผมคิดว่าตลอดเวลาที่ผมได้มาศึกษาธรรมะ ธรรมะจะช่วยให้ผมเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น” น้องเอสรุปทิ้งท้าย
อลิช่า มิวสิแคนท์ สาวน้อยชาวยิวจากอเมริกา วัย 25 ปีปริญญาตรีด้านวัฒนธรรม หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ
ด้านน้องโย-ลลดา เยืองยงค์ นักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนกรุงเทพวิเทศศึกษา น้องนุชสุดท้องของโครงการนี้ด้วยวัยเพียง 12 ปี ที่อาสาร่วมโฆษณาธรรมะเป็นคนแรกของโครงการ บอกว่า รู้สึกว่าตัวเองเข้ากับสังคมไม่ค่อยได้ พูดไม่ค่อยเข้าหูใครหรือจะบอกง่ายๆว่าเป็นคนปากหมา ซึ่งคิดว่าการมาที่นี่น่าจะช่วยแก้ไขในเรื่องนี้ได้เพราะเราอยู่กับสังคมที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เขาอาจจะแนะนำให้เราได้
ทั้งนี้ ก่อนมาร่วมก็ใช้เวลา 2 วันในการตัดสินใจคิด เมื่อขอ คุณแม่ก็อนุญาต
และบอกว่าถ้าไม่ไหวให้บอกแม่ แม่จะบอกอะไรกับเราบางอย่าง
“อยากจะวัดใจตัวเองดูว่าไปได้ไกลแค่ไหน แต่มาแล้วสนุกดีได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนว่าปรับตัวอย่างไร มาเรียนรู้บางสิ่งที่ยังไม่รู้ และเมื่อกลับไปแล้วจะไปแนะนำให้เพื่อนๆ ทั้งที่บ้านที่โรงเรียนเพื่อจะสามารถบอกกับพวกเขาได้ว่าตรงนี้ไม่ดี และควรจะทำให้ถูกต้องยังไงบ้าง”
ร่วมชุมนุมกัน ณ บริเวณที่บรรจุอัฐิของท่านพุทธทาส ภิกขุ
ส่วน พิรัล สาแระ หรือที่เพื่อนๆเรียกขานว่า “กี” หนุ่มคนนี้ไม่ธรรมดาเพราะครอบครัวนับถือศาสนาอิสลามเป็นชาวจังหวัดยะลาอายุ 23 ปี ปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนดุสิต สมัยมัธยมฯ เคยเรียนที่โรงเรียนปอเนาะหรือโรงเรียนสอนศาสนา แต่กลับสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมของต่างศาสดา!!...
น้องกีเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาร่วมทำตรงนี้ได้ปรึกษากับครอบครัว คุณพ่อก็เข้าใจ ส่วนคุณแม่บอกว่าการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้กับอิสลามอย่างเดียว สามารถเรียนรู้กับพุทธได้
“กีทำงานอาสาอยู่ที่เสถียรฯมาเกือบปีแล้ว โดยส่วนตัวรู้สึกศรัทธาในตัวอาจารย์พุทธทาสเพราะอาจารย์สอนเป็นกลางให้เข้าใจศาสนาตัวเอง ผมจึงยินดีที่ได้ทำงานรับใช้ท่าน เมื่อมาอยู่ที่นี่แม่ชีศันสนีย์สอนให้เป็นคนไม่มีตัวตน ช่วยให้ผมหายจากการเป็นเด็กที่อวดเก่ง ทุกอย่างจะต้องเป็นที่ 1อยู่มหาลัยก็ต้องเป็นผู้นำกิจกรรม ช่วยกะเทาะเปลือกผมจนหลุดได้ เพราะแต่ก่อนผมอยู่ในเปลือกมากทำทุกอย่างต้องเด่น ไปที่ไหนต้องเด่นก่อน เพราะเป็นลูกสุดท้องอยากได้อะไรก็ได้
คุณยายช่วยได้เยอะ การเข้ามาที่นี่เข้ามาเพื่อเรียนรู้ตัวเองมากกว่า มันไม่ใช่เรียนรู้แต่ศาสนา เรียนให้เข้าใจตัวเองว่าปัจจุบันสำคัญที่สุด ที่สำคัญเข้ามาแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ เป็นอิสลามเหมือนเดิม คือหลักคำสอนของทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดีอยู่ที่ว่าจะเข้าใจมากน้อยเพียงใด”
เริ่มก้าวธรรมออกจากสวนโมกข์
ปิดท้ายด้วย อลิช่า มิวสิแคนท์ สาวน้อยจากอเมริกา วัย 25 ปี ปริญญาตรีด้านวัฒนธรรม ผู้มาจากครอบครัวชาวยิว ก่อนหน้านี้เคยไปบวชชีพราหมณ์ที่พุทธคยาประเทศอินเดีย บอกว่า รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เข้าร่วมกิจกรรม ตอนแรกตั้งใจจะไปฝึกวิปัสสนาที่พม่าแต่พอได้ยินเรื่องนี้จากวัดไทยในอเมริกาก็เลยตัดสินใจเข้าร่วมเพื่ออยากเข้าใจตัวเองให้มากขึ้น คำสอนของศาสนาพุทธเข้าใจง่าย อยากพิสูจน์ตัวเอง รวมทั้งอยากเดินเพื่อสันติภาพ และเผยแผ่ธรรมะด้วย
...กิจกรรมธรรมโฆษณ์ ธรรมยาตรา : เดินเท้า ก้าวธรรม จะสิ้นสุดลงในวันที่ 21 ตุลาคม 2549 ที่เสถียรธรรมสถาน กรุงเทพฯ และนี่เป็นเพียงการเดินได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น ยังเหลือระยะทางอีกหลายร้อยกิโลเมตรที่ทายาทธรรมทุกคนจะต้องเดินทางให้สำเร็จ อีกทั้งทางการเดินทางครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเผยแผ่ธรรมะตามชุมชนต่างๆ แต่ยังเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติให้เป็นธรรมะสอนใจ เพื่อสอนให้ทุกๆ คนได้เกิดใหม่อีกครั้งทางสติปัญญาสมดังความมุ่งหมายของโครงการนี้...
|